รีวิว Bose : noise-masking sleepbuds
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่โบสทำสินค้านวัตกรรม นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่โบสทำสินค้าอื่นนอกจากเครื่องเสียง อย่าเพิ่งงงนะครับว่า ก็เห็นอยู่ทนโท่ว่าเป็นหูฟัง ทำไมถึงบอกว่ามันไม่ใช่เครื่องเสียง
Bose : noise-masking sleepbuds เปิดตัวมาพร้อมกับสโลแกนที่ดูเหมือนเป็นอุปกรณ์สายสุขภาพ หรือไม่ก็เป็นชุดเครื่องนอนมากกว่าอุปกรณ์เครื่องเสียง
เพราะเขาบอกว่าอุปกรณ์ตัวนี้จะทำให้ผู้ใช้นอนหลับได้สบายมากขึ้น มีคุณภาพการนอนที่ดีขึ้น โดยอาศัยเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับระบบเสียง ดังนั้นมันจึงมีรูปร่างหน้าตาดูคล้ายกับหูฟังที่เราคุ้นเคย
หูฟัง True Wireless ที่ไม่ได้เกิดมาเพื่อใช้ฟังเพลง
Bose : noise-masking sleepbuds เป็นหูฟัง Ture Wireless สำหรับใส่นอนที่ซ่อน “เทคโนโลยีหลับสบาย” เอาไว้ในอุปกรณ์ที่มีรูปร่างหน้าตาเหมือนกับหูฟังประเภท True Wireless ทั่วไป แต่มีขนาดเล็กกะทัดรัดกว่า
สามารถเชื่อมต่อแบบไร้สายระหว่างหูฟังทั้ง 2 ข้าง ตลอดจนเชื่อมต่อไร้สายกับสมาร์ทโฟนได้เช่นเดียวกับหูฟังประเภท True Wireless แต่มันไม่ได้ถูกออกแบบมาให้ใช้ฟังเพลง หรือฟังเสียงจากแหล่งสัญญาณอื่น ๆ เฉกเช่นหูฟังทั่วไป
หูฟัง sleepbuds ถูกออกแบบมาให้ใช้งานเวลานอนหลับ หรือในยามที่เราต้องการความสงบและปลีกวิเวกจากเสียงรอบข้าง การทำงานของมันจะมีอยู่ 2 ส่วน นั่นคือ การปิดกั้นเสียงรบกวนจากภายนอก
ขณะเดียวกันในตัวหูฟังเองก็ยังสามารถปล่อยเสียงบรรยากาศต่าง ๆ ตามธรรมชาติที่เป็นมิตรต่อการหลับนอน มากลบเกลื่อนเสียงรบกวนการหลับนอนใด ๆ อันไม่พึงประสงค์ได้ด้วย
โบสคุยว่าเทคนิคนี้จะช่วยให้ผู้ใช้งานรู้สึกผ่อนคลายและมีคุณภาพในการนอนหลับที่ดีขึ้น ดังนั้นเพื่อความสะดวกการใช้งานในขณะที่เรานอนหลับตัวหูฟัง sleepbuds จำเป็นต้องมีขนาดเล็กกะทัดรัด น้ำหนักเบาและสวมใส่ได้กระชับ เพื่อไม่ให้ผู้ใช้รู้สึกว่ามันเป็นส่วนเกินโดยเฉพาะในเวลาที่อยู่ในท่าทางต่าง ๆ ขณะหลับนอน
ด้วยความที่มีขนาดเล็กกะทัดรัด ทำให้หูฟัง sleepbuds ไม่มีปุ่มควบคุมสั่งงานใด ๆ ที่ตัวมันเลย ดังนั้นการตั้งค่า การควบคุมสั่งงานเกือบทั้งหมดจึงเป็นหน้าที่ของแอปพลิเคชัน “Bose Sleep” ในอุปกรณ์ iOS หรือ Android ซึ่งจำเป็นต้องนำมาใช้งานร่วมกับหูฟัง sleepbuds ด้วย
ไม่ว่าจะเป็น การปรับระดับความดังของเสียงบรรยากาศในหูฟัง, การเลือกรูปแบบเสียงบรรยากาศ, การตั้งเวลาสำหรับเสียงบรรยากาศ, การตั้งเวลาปลุก, การแสดงสถานะการใช้งาน, การแสดงระดับพลังงานแบตเตอรี่ในตัวหูฟัง ฯลฯ
แอปฯ “Bose Sleep” และโหมด Phone-Free
หลังจากจับคู่กับ แอปฯ Bose Sleep ในสมาร์ทโฟน การตั้งค่าต่าง ๆ ก็ไม่มีอะไรยุ่งยากครับ ไฮไลต์สำคัญอยู่ที่การเลือกเสียงที่จะใช้สร้างบรรยากาศในระหว่างการนอน
ซึ่งเบื้องต้นจะมีเสียงให้เลือกอยู่จำนวนหนึ่ง เป็นเสียงบรรยากาศต่าง ๆ ที่สอดคล้องกับเสียงที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ หรือเกิดขึ้นได้ในโอกาสต่าง ๆ ซึ่งเป็นมิตรกับการนอน หรืออย่างน้อยก็ไม่ได้รบกวนการนอน นอกจากเสียงที่มีอยู่แล้ว ยังสามารถเลือกโหลดเพิ่มหรือเปลี่ยนได้จากเมนูภายในแอปฯ ได้ด้วย
นอกจากเลือกรูปแบบของเสียงบรรยากาศได้แล้ว เรายังสามารถตั้งระดับความดังของเสียงบรรยากาศนั้น ๆ ให้สัมพันธ์กับเสียงรอบข้างได้ด้วย เพื่อเปิดโอกาสได้เรายังมีโอกาสได้ยินเสียงรอบข้างที่อาจจำเป็นต้องได้ยินเช่น เสียงเตือนภัย เสียงร้องของลูก หรือสัตว์เลี้ยงได้ด้วย เสียงบรรยากาศนี้ยังเลือกได้ด้วยว่าจะให้เล่นไปตลอดการใช้งาน หรือว่าจะให้เล่นไปช่วงเวลาหนึ่งแล้วหยุดเล่น
เนื่องจากหูฟัง sleepbuds ไม่รับเสียงอื่น ๆ จากสมาร์ทโฟนเหมือนกับหูฟังไร้สายทั่วไป สำหรับคนที่กังวลว่าจะไม่ได้ยินเสียงตั้งปลุก สามารถเลือกตั้งปลุกด้วยเสียงจากในแอปฯ Bose Sleep ได้ครับ ซึ่งเสียงปลุกที่เขามีให้เลือกก็ล้วนแล้วแต่เป็นเสียงที่ค่อนข้างสุภาพ ตรงนี้สำคัญนะครับเพราะมันจะดังในหูเราเลย หากเป็นเสียงที่ดุดันเกินไปมันคงจะไม่ดี
ในกรณีที่เราใช้งานไปได้สักพัก ได้ตั้งค่าจนถูกใจแล้ว ลงตัวแล้ว และไม่คิดว่าจะต้องมีการปรับเปลี่ยนอะไรในตัวหูฟัง sleepbuds ผ่านแอปฯ Bose Sleep อีก เราสามารถเลือกใช้งานในโหมด “Phone-Free” ได้ครับ โดยกดเลือกจากในแอปฯ Bose Sleep
โหมดนี้ทำให้เราสามารถใช้งานหูฟัง sleepbuds ได้ง่ายยิ่งขึ้นไปอีก เพราะเวลาใช้งานมันไม่ต้องยุ่งเกี่ยวกับสมาร์ทโฟนอีกแล้ว เมื่อหยิบหูฟังออกจากเคสมันก็จะเริ่มทำงานทันที เมื่อจะเลิกใช้งานก็แค่เก็บมันใส่กลับเข้าไปในเคส สะดวกมากครับ
ลองใช้งาน… ง่ายและได้ผลดีจริง
ผมต้องขอออกตัวสักนิดว่า ครั้งแรกที่ทราบว่าโบสทำสินค้ารุ่นนี้ออกมา ผมไม่แน่ใจว่าทีมออกแบบของโบสกำลังคิดอะไรอยู่ เพราะแอปพลิเคชันในสมาร์ทโฟนที่มีคุณสมบัติคล้ายกันนี้ก็มีอยู่หลายแอปฯ เมื่อใช้งานร่วมกับหูฟัง True Wireless สักตัว มันก็จะทำหน้าที่ได้เหมือนกัน
ส่วนตัวผมก็เคยใช้งานแอปฯ ชื่อ “Relax Melodies: Sleep Sounds” มาก่อน ซึ่งมันก็มีเสียงบรรยากาศให้เลือกฟังเยอะอยู่เหมือนกัน… แต่ นั่นคือสิ่งที่ผมคิดก่อนได้ลองใช้หูฟัง sleepbuds ครับ !
เพราะเมื่อได้ลองใช้งานกันจริง ๆ ผมกลับรู้สึกว่าอุปกรณ์อย่างเจ้า sleepbuds นี่แหละที่สมควรทำออกมาขายตั้งนานแล้ว
เมื่อใช้งานจริง ความเล็กและเบาของมันทำให้ใส่นอนได้โดยที่รู้สึกเหมือนกับว่าไม่ได้ใส่ มันยังใส่กระชับ ไม่หลุดง่าย เมื่อเลือกขนาดของจุกและก้านซิลิโคนที่ให้มา 3 ขนาด (StayHear+ Sleep tips ขนาด S, M, L) ให้พอดีกับหูของเรา
อุปกรณ์อีกชิ้นที่มาพร้อมกับหูฟัง sleepbuds คือ แบตเตอรี่เคสหน้าตาดูดีที่สามารถใช้เป็นกล่องเก็บหูฟัง พร้อมทั้งทำหน้าที่ชาร์จไฟให้กับตัวหูฟังไปด้วยในตัว
โดยปกติตัวหูฟังสามารถใช้งานต่อเนื่องได้นาน 16 ชั่วโมงต่อการชาร์จไฟจนเต็ม 1 รอบ และแบตเตอรี่เคสเมื่อได้รับการชาร์จไฟจนเต็ม ก็สามารถใช้ชาร์จไฟให้กับหูฟังได้อีก 1 รอบ
ในตัวเคสยังมีไฟแสดงสถานะการชาร์จและระดับพลังงานในตัวเคสปรากฏอยู่ด้วย ซึ่งในแง่ของการออกแบบต้องชื่นชมว่าโบสออกแบบในส่วนนี้ได้สวยงามดูดีจริง ๆ ครับ
หลังจากศึกษาการทำงานเบื้องต้นและชาร์จไฟกันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ผมได้ลองใช้งาน sleepbuds วันละ 6-8 ชั่วโมง เป็นเวลาประมาณ 1 สัปดาห์ พบว่ามันทำให้คุณภาพการนอนของผมดีขึ้นอย่างชัดเจนครับ หลับได้ลึกขึ้น มีการฝันระหว่างนอนหลับน้อยลง ทำให้นอนหลับได้สนิทมากขึ้น
เสียงรบกวนภายนอกอย่างเสียงเพลงในยามเช้าหรือเสียงสุนัขของเพื่อนบ้าน หรือเสียงรถขายกับข้าวที่วิ่งผ่านหน้าบ้านในช่วงเช้า ไม่สามารถรบกวนการนอนของผมได้เหมือนอย่างที่เคย
ที่จริงแล้วไม่ต้องรอให้ถึงหนึ่งสัปดาห์หรอกครับ แค่ 2-3 คืนแรกของการใช้งานผมก็รู้สึกได้แล้วว่ามันดีกว่าที่ผมคิด อย่างน้อยมันก็ไม่ได้เกะกะหรือเป็นส่วนเกินเลย ไม่ว่าจะนอนในท่าทางอย่างไร แม้กระทั่งท่านอนตะแคงหันข้าง
ซึ่งคุณสมบัตินี้ผมมั่นใจว่ายังไม่มีหูฟัง True Wireless ตัวไหนทำได้ดีเท่า แม้แต่ Samsung Galaxy Buds ที่ผมคิดว่ามันเล็กและเบามากแล้วก็ยังเทอะทะไปหน่อย เมื่อเทียบกับ Bose sleepbuds ! (Galaxy Buds หนัก 6 กรัม Bose sleepbuds หนักแค่ 2.3 กรัม)
ข้อดีประการต่อมาของ Bose sleepbuds ก็คือ การจับคู่และเชื่อมต่อที่ง่ายมาก เวลาจะใช้งานก็แค่หยิบหูฟัง sleepbuds ออกจากเคส มันจะเชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟนที่ได้จับคู่ไว้โดยอัตโนมัติ จากนั้นอีกไม่กี่วินาทีก็พร้อมใช้งาน
เมื่อเลิกใช้งานก็แค่เก็บกลับคืนเข้าไปในเคส หูฟัง sleepbuds ก็ปิดการใช้งานและตัดการเชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟนโดยอัตโนมัติ ไม่ต้องมากดปุ่มเปิด-ปิดอะไรให้วุ่นวาย
ในกรณีที่ใช้งานโหมด Phone-Free ตามที่ได้กล่าวถึงในหัวข้อก่อนหน้านี้ มันก็จะยิ่งใช้ง่ายและสะดวกมากขึ้นไปอีก
สำหรับความรู้สึกจากการใช้งานจริง ลำพังแค่ใส่หูฟัง sleepbuds เฉย ๆ ผมก็รู้สึกได้ถึงความเงียบในระดับหนึ่งแล้วนะครับ แต่การเสริมเสียงบรรยากาศเข้าไปมันทำให้เรามีสมาธิมากขึ้น ความคิดฟุ้งซ่านน้อยลง และที่น่าสนใจคือเสียงบรรยากาศที่เขาให้มามันฟังดูเป็นธรรมชาติกว่าที่ผมเคยได้ยินจากแอปฯ “Relax Melodies: Sleep Sounds” ในสมาร์ทโฟนที่ผมได้กล่าวถึงไว้ข้างต้น
มันเป็นเสียงที่โปร่งเบากว่า ให้มิติเสียงกว้างกว่า ทำให้เสียงที่เราได้ยินนั้นฟังดูเป็นธรรมชาติกว่าเยอะครับ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะมันถูกปรับแต่งมาพร้อมกับตัวหูฟัง sleepbuds ตั้งแต่ต้นนั่นเอง
เมื่อเครื่องเสียงให้ประโยชน์มากกว่าความบันเทิง
นี่อาจเป็นครั้งแรกที่ผมรีวิวเครื่องเสียงแล้วไม่ได้พูดถึงคุณภาพเสียงในแง่มุมที่คุ้นเลย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเนื้อเสียง ความดัง ความถี่ มิติ เวทีเสียงหรือไดนามิกของเสียง
นี่อาจเป็นครั้งแรกที่ผมรีวิวหูฟังแล้วรู้สึกเหมือนกำลังรีวิวอุปกรณ์ประเภท health care มากกว่าอุปกรณ์ไฮไฟ
จากที่ผมบอกเล่ามาทั้งหมดนั้น ชัดเจนว่า Bose sleepbuds ทำหน้าที่ของมันได้อย่างดี ดีจนผมเองต้องเปลี่ยนความคิด จากที่เคยคิดว่า… ทำไมโบสถึงเพิ่งทำสิ่งที่เคยมีอยู่แล้วและมีมานานแล้วออกมาในเวลานี้
กลายเป็นว่าโบสได้ทำให้สิ่งที่มีอยู่แล้วนั้น มีความเบ็ดเสร็จสมบูรณ์มากขึ้น และสามารถนำไปใช้งานได้อย่างจริงจัง ไม่ใช่แค่ของที่แค่เอาไว้ทดลองเล่นเป็นประสบการณ์
อย่างไรก็ดี การนอนที่มีคุณภาพนั้นประกอบไปด้วยปัจจัยหลายอย่าง หลัก ๆ ก็เช่น เรื่องของสุขภาพ, อาหารการกิน, อารมณ์และความเครียด ตลอดจนเรื่องของสภาพแวดล้อมในการนอน บางปัจจัยเราก็ไม่อาจกำหนดหรือควบคุมมันได้ตลอดเวลา
ดังนั้นหากว่าปัจจัยเรื่องของสภาพแวดล้อมในการนอนนั้นกำลังเป็นปัญหา โดยเฉพาะสภาพแวดล้อมที่เกี่ยวกับเสียงโดยตรง ผมแนะนำให้ลองพิจารณา Bose sleepbuds ไว้เป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการแก้ปัญหา ก็น่าจะดีนะครับ เพราะปัญหาอาจจบได้ง่าย ๆ และใช้งบประมาณน้อยกว่าการแก้ปัญหาด้วยวิธีอื่นก็เป็นได้ครับ
จัดจำหน่ายโดย
บริษัท อัศวโสภณ จำกัด (www.asavasopon.co.th)
โทร. 0-2266-8136-8, 0-2234-6467-8 (สำนักงานใหญ่สี่พระยา)
ราคา 11,900 บาท