รีวิว Audyn : Virtus S250 MKII
คุณคิดว่าเพาเวอร์แอมป์โมโนบล็อคหน้าตาเรียบง่าย แต่แลดูจริงจังขึงขังสักคู่หนึ่งควรตั้งราคาเอาไว้เท่าไรดี? ถ้าหากว่ามันมาพร้อมกับตัวเลขกำลังขับ 250 วัตต์อาร์เอ็มเอส (โหลด 8 โอห์ม), ความเพี้ยน THD 0.01%, Damping factor 400, S/N ratio 103dB, Bandwidth มากกว่า 200kHz
สำหรับคนที่มีประสบการณ์กับเครื่องเสียงไฮฟิเดลิตี้มาพอสมควร อาจจะพอนึกประเมินราคาในใจได้คร่าว ๆ แต่ถ้าจะให้ตอบได้อย่างมั่นใจเชื่อว่าร้อยทั้งร้อยคงบอกว่าต้องขอฟังเสียงดูก่อน เพราะเมื่อขึ้นชื่อว่าเป็นเครื่องเสียงแล้วปัจจัยสำคัญที่สุดคงหนีไม่พ้นเรื่องของ ‘คุณภาพเสียง’
แอมป์ไทยกับแนวคิดเยี่ยงอย่างสินค้าไฮเอนด์
ข้างต้นเป็นข้อมูลทางเทคนิคของ Virtus S250 MkII เพาเวอร์แอมป์โมโนบล็อครุ่นใหม่ล่าสุดของยี่ห้อ ‘ออดิน’ (Audyn) ยี่ห้อเครื่องเสียงของคนไทยแท้ ๆ ที่ออกแบบและผลิตในประเทศไทย
สำหรับท่านที่เพิ่งได้ยินชื่อของเขาผมใคร่จะแนะนำให้รู้จักกันพอสังเขป ยี่ห้อ Audyn เป็นแบรนด์เล็ก ๆ ที่สร้างขึ้นโดยพวัสพงศ์ เกษตรภิบาล วิศวกรหนุ่มใหญ่ไฟแรงที่ค่อย ๆ ไต่เต้าสร้างชื่อแบบปากต่อปากในกลุ่มนักเล่นที่นิยมอุปกรณ์เสริมต่าง ๆ สำหรับระบบไฟจนกระทั่งได้แตกไลน์สินค้าออกมาในกลุ่มแอมปลิฟายเออร์
ส่วนตัวผมเคยได้รีวิวสินค้าของ Audyn ไปแล้ว 2 ชิ้น ได้แก่ AC Power Conditioner รุ่น Libero PW (GM2000 ฉบับเดือนพฤษภาคม 2013) และเพาเวอร์แอมป์รุ่น Virtus D300 (GM2000 ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2014) ยังไม่นับรวมในบางช่วงเวลาที่มีโอกาสได้ลองสินค้ารุ่นอื่น ๆ อีกจำนวนหนึ่งของ Audyn ในวาระต่าง ๆ
ความชัดเจนสำหรับสินค้ายี่ห้อนี้นอกจากเรื่องของการใช้สีดำเป็นสีหลักก็คือ การเลือกใช้วัสดุอุปกรณ์ที่พยายามจะสร้างมาตรฐานให้ทัดเทียมกับสินค้าระดับไฮเอนด์ของต่างประเทศ ไม่ใช่แค่หลุดพ้นจากคำว่าลดต้นทุนนะครับแต่เป็นลักษณะของแนวคิดที่ว่า ในเมื่อสินค้าไฮเอนด์ของนอกเขาทำได้แล้วทำไมของเราจะทำบ้างไม่ได้ ในราคาแบบไทย ๆ เรานี่แหละ ตรงนี้ผมคิดว่าใครที่เคยใช้สินค้าของยี่ห้อนี้มาบ้างก็น่าจะรู้สึกไม่ต่างกันนัก
สำหรับ Virtus S250 MkII ก็เช่นกัน เพาเวอร์แอมป์โมโนบล็อคหน้าตาเรียบ ๆ คู่นี้ ถ้าหากพิจารณากันให้ถ้วนถี่แล้วจะพบว่ามันถูกสร้างขึ้นด้วยความเอาใจใส่ ด้วยความลุ่มหลง ไม่เช่นนั้นคงไม่ได้เห็นแผงหน้าปัดที่ทำด้วยแผ่นอะลูมิเนียมหนา 1 นิ้ว ตัวถังที่หนักอึ้ง (20.3 กิโลกรัม) ขั้วต่ออินพุตและขั้วต่อสายลำโพงที่มีโหงวเฮ้งดูดีกว่าแอมป์ในระดับราคาเทียบเท่ากัน
คุณสมบัติพื้นฐานและการออกแบบ
คุณสมบัติพื้นฐานของ Virtus S250 MkII นอกจากตัวเลขสเปคฯ ที่ได้กล่าวถึงไปเมื่อตอนต้นแล้ว ข้อมูลส่วนหนึ่งนั้นอยู่ในเว็บไซต์และในคู่มือใช้งานที่มาพร้อมกับตัวเครื่อง อีกส่วนหนึ่งผมได้มาจากการสอบถามกับทางผู้ผลิตโดยตรง
นอกจากรูปทรงที่ดูแปลกตาเพราะมาในดีไซน์หน้าแคบ-ท้ายลึกแล้ว เมื่อพิจารณาจากภายนอก Virtus S250 MkII ก็ดูไม่มีอะไรซับซ้อนไปกว่าเพาเวอร์แอมป์ทั่วไป หน้าเครื่องมีเพียงปุ่มกดสีเงินทำหน้าที่เป็นปุ่มเปิด-ปิดการทำงานของตัวเครื่องพร้อมไฟแสดงสถานะเป็น LED สีแดงจุดเล็ก ๆ
ไฟดวงนี้จะติดสว่างในระดับหนึ่งเมื่อมีการเปิดสวิตช์ Mains ที่ด้านหลังเครื่องเพื่อเข้าสู่โหมดสแตนด์บาย และจะติดสว่างเต็มที่เมื่อมีการกดปุ่มเปิดเครื่องโดยใช้ปุ่มกดสีเงินหน้าเครื่องหรือสั่งจากสวิตช์ Trigger 12V ซึ่งมีขั้วต่ออยู่ที่ด้านหลังเครื่อง
นอกจากนั้นแล้วที่ด้านหลังเครื่องยังเป็นที่อยู่ของขั้วต่อสายไฟเอซีเข้าเครื่องแบบ IEC 3 ขา, ขั้วฟิวส์แบบกระปุก, สวิตช์ไฟ Mains, ขั้วต่อสายลำโพง และขั้วต่อสัญญาณอินพุตซึ่งมีให้มาทั้งแบบอันบาลานซ์ (RCA) และบาลานซ์ (XLR) พร้อมทั้งสวิตช์โยกสำหรับเลือกใช้งานอินพุตทั้งสอง
จากการลองใช้งานเบื้องต้น Virtus S250 MkII สามารถทำงานได้อย่างราบรื่นนุ่มนวลตั้งแต่เรื่องง่าย ๆ อย่างการเปิด-ปิดเครื่อง ซึ่งจะมีวงจรหน่วงเวลาและสวิตช์อิเล็กทรอนิกส์คอยตรวจสอบรวมถึงการตัดต่อสัญญาณออกลำโพงให้เหมาะสมกับสถานะของเครื่องในเวลานั้น ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้มีเสียงแปลกประหลาดใด ๆ เล็ดลอดออกไปที่ลำโพง
การแยกตัวถังออกเป็น 2 เครื่องแบบโมโนบล็อคมีข้อดีหลายประการตั้งแต่เรื่องของการลดการรบกวนระหว่างวงจรขยายทั้ง 2 แชนเนล ทำให้ค่า channel separetion ดีขึ้น หรือการเพิ่มจำนวนแชนเนลสำหรับในระบบเสียงโฮมเธียเตอร์ทำได้คล่องตัวมากขึ้น
และที่ผมชอบใจมากคือมันทำให้การยกย้ายเครื่องทำได้ง่ายขึ้นครับ แบบที่รวมกันมาในตัวเดียวแล้วหนักชนิดเลือดตาแทบกระเด็นอย่างรุ่น Virtus D300 นั้นได้ยกแค่ครั้งเดียวก็เข็ดขยาดไปนาน!
การออกแบบและงานวิศวกรรมในเชิงลึก
สำหรับส่วนของการออกแบบในเชิงลึกของแอมป์ Virtus S250 MkII คู่นี้เท่าที่ผมได้ยินข้อมูลจากทางผู้ผลิตโดยตรงทำให้ทราบว่ามันแตกต่างจากแอมป์รุ่น Virtus S250 รุ่นแรกมากเสียจนแทบจะเรียกได้ว่าเป็นแอมป์รุ่นใหม่ ไม่ใช่รุ่นไมเนอร์เช้นจ์อย่างที่เข้าใจ
ตอนได้เห็นชื่อรุ่น อย่างเช่นในรุ่น Virtus S250 เดิมนั้นไม่มีขั้วต่ออินพุตแบบบาลานซ์, รุ่นเดิมเป็นวงจรแอมป์คลาสเอบีชุดเดียวเหมือนวงจรขยายปกติทั่วไป, รุ่นเดิมใช้หม้อแปลงขนาด 450VA แต่รุ่นใหม่ใช้หม้อแปลงใหญ่ขึ้นเป็น 550VA เนื่องจากต้องจ่ายกระแสไฟให้ภาคขยายคลาสเออีกส่วนที่เพิ่มเข้ามา
หม้อแปลงไฟขนาดใหญ่กว่าที่ว่านี้ทำงานร่วมกับตัวเก็บประจุฟิลเตอร์หรือ Reservoir capacitor ขนาด 40,000 ไมโครฟารัดเพื่อหวังผลในด้านการจ่ายกำลังสำรองอย่างต่อเนื่อง
ในส่วนของวงจรขยายสัญญาณทางผู้ผลิตเขาเคลมว่ามันไม่เหมือนกับเพาเวอร์แอมป์ทั่วไปแต่ใช้เทคนิคการออกแบบเหมือนในรุ่น D300 ทว่าแตกต่างกันในรายละเอียดของการปรับแต่งเล็ก ๆ น้อย ๆ
ในเพาเวอร์แอมป์ Virtus S250 MkII 1 เครื่องจะประกอบไปด้วยวงจรขยายที่ถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วนเสมือนกับว่ามีแอมป์ 2 แชนเนลในเครื่องเดียว แต่ละส่วนนั้นมีอัตราขยายเป็นอิสระของตัวเอง โดยภาคขยายส่วนหน้านั้นมีกำลังขับต่ำมากคือราว ๆ 1 วัตต์และเป็นวงจรแบบซิงเกิลเอนด์คลาสเอแท้ ๆ เพื่อคงความบริสุทธิ์และรักษาคุณภาพของตัวสัญญาณเอาไว้
สำหรับวงจรอีกส่วนจะเป็นภาคขยายคลาสเอบีแบบพุชพุล (ใช้เพาเวอร์ทรานซิสเตอร์ชนิดไบโพลาร์) ซึ่งมีความสามารถในการจ่ายกระแสขับลำโพงได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ทั้งสองส่วนทำงานร่วมกันเป็นหนึ่งเดียวโดยมีอัตราขยายอยู่ที่ 29dB เป็นไปตามมาตรฐาน THX (ข้อมูลจากผู้ผลิต)
ข้อดีของวงจรในลักษณะนี้ตามที่ผู้ผลิตเขาได้เปิดเผยเอาไว้ก็คือ “กล่าวได้ว่า Virtus S250 MK II คือเพาเวอร์แอมป์ Class ABกำลังขับสูงที่มีบุคลิกเช่นเดียวกับเพาเวอร์แอมป์ Class A นั่นเอง”
อีกส่วนที่น่าสนใจคือการใช้วงจรป้อนกลับแบบป้อนกลับกระแสหรือ Current Feedback ซึ่งได้รับการกล่าวอ้างจากทางผู้ผลิตว่า “มีส่วนช่วยให้วงจรขยายเสียงสามารถตอบสนองทรานเชี้ยนต์หรือการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันของสัญญาณได้อย่างยอดเยี่ยม ให้ซาวนด์สเตจที่กว้างเป็นพิเศษ ทั้งยังมีความโดดเด่นเป็นพิเศษในการแยกแยะตำแหน่งและรายละเอียดของเครื่องดนตรี เงียบสนิทและมี noise floor จัดอยู่ในระดับต่ำมาก ด้วยค่า signal to noise ratio ต่ำกว่า -103dB เปิดเผยรายละเอียดแม้เพียงเล็กน้อย”
ความประทับใจแรก
เบื้องต้นสำหรับการใช้งานทั่วไปกับแอมป์คู่นี้ต้องบอกว่า Virtus S250 MkII เป็นแอมป์กำลังขับสูงที่ผมสามารถใช้งานได้อย่างสบายใจตั้งแต่วันแรกที่ได้รับเครื่องตัวอย่างมาจนตลอดช่วงเวลาของการรีวิว การเปิด-ปิดเครื่องในทุก ๆ กรณีราบรื่นไม่มีอะไรชวนให้หวาดระแวง เรียกว่าอยู่ในมาตรฐานเดียวกับเครื่องเสียงแบรนด์เนมที่สร้างชื่อกันในระดับสากล
ทั้งหมดนี้หมายความว่า Virtus S250 MkII นั้นเป็นแอมป์สัญชาติไทยที่ปราศจากปัญหาใด ๆ เกี่ยวกับทางเทคนิค ใครที่กลัวว่าเครื่องเสียง Made in Thailand จะไว้ใจได้หรือเปล่า ใช้แล้วจะเผาลำโพงสุดที่รักหรือไม่ สำหรับแอมป์รุ่นนี้ผมถือว่าไว้ใจได้ไม่มีปัญหาอะไร
ซึ่งทั้งหมดนี้ก็สอดคล้องกับข้อมูลทางเทคนิคจากผู้ผลิตที่พูดถึงเรื่องของวงจรควบคุมและวงจรป้องกันต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นวงจร DC Blocking ทำหน้าที่คอยจัดการกับมลภาวะทางไฟฟ้า, DC fault protection ทำหน้าที่ตรวจจับและป้องกันอันตรายจากไฟกระแสตรงที่อาจจะเล็ดลอดออกไปได้ถ้าหากแอมป์เกิดความผิดปกติขึ้น, Thermal protection ทำหน้าที่ตัดการทำงานของเครื่อง ในกรณีที่อุณหภูมิของเครื่องสูงกว่า 80 องศาเซลเซียส, Current limiter ทำหน้าที่ป้องกันความเสียหายของตัวเครื่องเมื่อโหลดมีค่าอิมพิแดนซ์ลดลงต่ำกว่า 1 โอห์ม (เช่นในกรณีเกิดการลัดวงจร)
สำหรับความเห็นในแง่มุมที่เกี่ยวกับคุณภาพเสียงของ Virtus S250 MkII เท่าที่ได้ลองใช้ขับลำโพงอยู่จำนวนหนึ่งรวมถึงลำโพงตั้งพื้นอย่าง Tannoy Revolution XT 6F ซึ่งมีโอกาสได้ใช้งานเป็นส่วนใหญ่ในระหว่างการรีวิวนี้
ผมว่าเสียงของแอมป์โมโนบล็อคคู่นี้ออกมาในแนวทางเดียวกับรุ่น Virtus D300 ที่ผมเคยฟัง คือมันเป็นเสียงของแอมป์ใหญ่ที่ไม่ได้เน้นแต่เนื้อหรือน้ำหนักเสียงเพียงอย่างเดียว หากแต่มันยังให้ความสำคัญกับเรื่องฮาร์มอนิกและสปีดของเสียงอีกด้วย จุดนี้สำคัญมากเพราะมันเป็นส่วนหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับความเป็นดนตรีทั้งโดยทางตรงและทางอ้อม
เสียงเพลงและดนตรี
นอกจากคุณสมบัติและเสียงที่ได้ยินในเบื้องต้นแล้ว ผมว่าการถ่ายทอดเสียงออกมาในลักษณะที่ไม่เจือปนความหยาบกระด้างแข็งเกร็งแต่อย่างใดออกมา เป็นประสบการณ์ที่น่าสนใจสำหรับสินค้าของคนไทยเราที่ยังอยู่ในระดับทำขายในประเทศ แต่สุ้มเสียงนั้นผมว่าของเขาก้าวไปอยู่ในระดับอินเตอร์ฯ แล้วล่ะครับ
เบื้องต้นในซิสเต็มเดิมที่ใช้ฟังลำโพง Tannoy Revolution XT 6F ผมใช้อินทิเกรตแอมป์ Arcam FMJ A39 ซึ่งใช้งานร่วมกันได้เข้าขากันดี ทางด้าน source มาใช้เครื่องเล่น SACD/CD/USB DAC รุ่น SA-14S1 ของ Marantz เป็นตัวหลัก สลับกับ Moon 380 DSD ในกรณีที่ไม่ได้เล่นเพลงจากแผ่นดิสก์
เพื่อที่จะฟังเปรียบเทียบระหว่างภาคเพาเวอร์แอมป์ในตัว A39 กับ Virtus S250 MkII ผมต่อปรีเอาต์จาก A39 ไปเข้าที่อินพุต RCA ของ Virtus S250 MkII เสียงที่ได้จากแอมป์ของ Audyn ดูเหมือนจะให้เสียงที่ดีขึ้นอย่างชัดเจน ยกเว้นแค่เพียงการกำหนดขอบเขตพื้นที่ในเวทีเสียงด้านลึกที่ไม่ได้เหนือกว่าหรืออาจจะเป็นรองอยู่บ้าง
แต่ด้านอื่น ๆ ทั้งเรื่องของมิติเสียงด้านกว้าง ความโอ่โถงของเวทีเสียงและบรรยากาศ ถือว่าแอมป์ของ Audyn ทำหน้าที่ได้น่าประทับใจมาก มันให้เสียงที่สุภาพนุ่มนวล เสียงร้องที่มีลักษณะเน้นย้ำจีบปากจีบคอขณะที่ยังมีสปีดของเสียงฉับไวและแม่นยำ ไม่ได้เฉื่อยช้าอุ้ยอ้ายลงไปแต่ประการใด
เสียงสแนร์ที่มีน้ำหนักและเนื้อเสียงอวบอิ่มกำลังดี ยังคงกระชับหนักแน่น ให้โฟกัสหัวเสียงที่คมชัด ย่านความถี่ต่ำที่ดูเหมือนจะมีเนื้อหนุนให้ฟังดูอิ่มใหญ่กว่าแอมป์ในตัว Arcam ก็ไม่ได้ทำให้รู้สึกว่าเป็นแอมป์ที่เสียงใหญ่แต่ตอบสนองช้าเลยแม้แต่น้อย
ภาพรวมที่ได้จากแอมป์คู่นี้คือเสียงที่มีรายละเอียดแฝงไว้ด้วยความผ่อนคลาย ใหญ่แต่พลิ้ว เข้มหนาแต่ไม่ทึบหรือตื้อ ปลายหางเสียงที่ฟังนุ่มละเมียดมีรายละเอียดความก้องกังวานและประกายหางเสียงออกมาให้สัมผัสรับรู้ได้
จากอัลบั้มเพลงที่คุ้นเคยอย่าง Jazz At The Pawnshop และ Carmen-Fantasie ซึ่งเป็นไฟล์ PCM 24/88.2 จาก HDtracks ทั้งคู่ แอมป์คู่นี้ถ่ายทอดรายละเอียดหยุมหยิมในช่วงเสียงเบา ๆ ร่วมกับอุปกรณ์อื่น ๆ ในซิสเต็มออกมาได้อย่างกระจ่างชัดเจน ไม่รู้สึกว่ามีอะไรขาด-เกิน
เสียงไวโอลินที่ปกติจะมีรายละเอียดแอบซ่อนอยู่มากมายอีกทั้งยังอ่อนไหวต่อการถูกบิดเบือน ก็ได้รับการแจกแจงออกมาอย่างประณีตบรรจง ทุก ๆ สำเนียง ทุก ๆ ตัวโน้ต เป็นเสียงที่ฟังสบายหูแต่มีพลังแฝง ไม่ใช่ความเบาสบายอย่างอ่อนระทวย
เสียงโซโล่กีตาร์ในอัลบั้ม Meet Me in London (PCM 24/192, Naim Records) เป็นเสียงกีตาร์ที่ฟังเหมือนกีตาร์จริง ๆ มากที่สุดครั้งหนึ่งเท่าที่เคยได้ฟังมา มันมีความคมชัด ความพลิ้วกังวาน โปร่งเบาแต่ไม่เบาบาง พลิ้วลอยแต่ไม่กลวง ผมว่า Virtus S250 MkII เป็นแอมป์ที่สามารถพิสูจน์ตัวเลขสเปคฯ สวย ๆ ของมันได้ไม่ยากเลย แค่นั่งลงแล้วเปิดเพลงฟังเท่านั้นเองครับ
เช่นเดียวกับเพลง ‘Spanish Mary’ จากอัลบั้ม Lost On The River (Deluxe) โดยวง The New Basement Tapes (PCM 24/96, Hdtracks) ที่บันทึกเสียงได้เป็นธรรมชาติ น่าฟัง มีช่วงแบนด์วิธและไดนามิกเรนจ์กว้างขวาง เสียงจากซิสเต็มที่สนับสนุนผลักดันโดยแอมป์โมโนบล็อคคู่นี้ก็ถ่ายทอดสิ่งเหล่านั้นออกมาได้อย่างน่าชมเชย
ช่วงหนึ่งในระหว่างที่แอมป์โมโนบล็อคคู่นี้ยังอยู่ในซิสเต็ม และผมใช้ Moon 380D DSD ซึ่งเป็น digital source ที่ให้เสียงสะอาดสะอ้านมาก โดยเล่นเพลงจากคอมพิวเตอร์ผ่านโปรแกรม Roon แล้วต่อใช้งานอินพุต USB ของ 380D DSD
เสียงที่ได้จากการฟังอัลบั้ม Daylight Again (PCM 24/96, HDtracks) ของ Crosby, Stills & Nash มันยิ่งตอกย้ำให้ผมเชื่อมั่นว่าแอมป์หน้าตาดำทะมึนดูเหมือนไม่มีพิษสงอะไรคู่นี้นอกจากจะไม่ใช่จุดอ่อนในซิสเต็มระดับนี้แล้ว ยังน่าจะมีส่วนสำคัญในการเกื้อหนุนให้รายละเอียดเสียงเป็นดังที่ปรากฏออกมา กล่าวคือไม่เพียงแค่ฟังออกว่าใครร้องท่อนไหนเท่านั้น ทว่ามันยังผนวกความลื่นไหล ความกลมกล่อมละมุนละไมโดยมิได้สูญเสียความพลิ้วหวานไปเลยแม้แต่น้อย
แอมป์ใหญ่ที่มีกำลังขับเยอะ ๆ แต่แจกแจงรายละเอียดได้ดีเช่นนี้ ใช่ว่าจะหากันง่าย ๆ โดยเฉพาะในระดับราคาเพียงเท่านี้ แต่ Audyn ทำได้และได้ทำมันออกมาแล้ว
Simply the best?
ในรีวิว Exogal Comet (GM2000 ฉบับที่ 220 เดือนกรกฎาคม 2558) ผมยังติดค้างเรื่องของการใช้งาน DAC/Preamp ตัวนี้ในลักษณะต่อตรงกับเพาเวอร์แอมป์แล้วใช้วงจรควบคุมความดังของเสียงที่อยู่ในตัว Comet ซึ่งทางผู้ผลิตเองบอกว่ามันเป็นวิธีที่น่าสนใจมาก เพราะว่าเขามีความตั้งใจจะออกแบบให้มันถูกใช้งานเช่นนั้น แต่บังเอิญว่าในขณะนั้นผมใช้งานอยู่แต่อินทิเกรตแอมป์ก็เลยไม่ได้ลองในส่วนนี้อย่างเป็นกิจลักษณะ
พอดีว่า Virtus S250 MkII ถูกส่งมาถึงผมหลังจากรีวิว Comet ออกไป จึงขอถือโอกาสรวบยอดส่วนนั้นมาพูดถึงในภาพรวมทั้งตัว Comet เองและตัว Virtus S250 MkII ในวาระเดียวกันเสียเลยครับ
การต่อใช้งานจากเอาต์พุตของ Comet โดยตรงทางช่องบาลานซ์เอาต์พุตไปเข้าอินพุตบาลานซ์ของ Virtus S250 MkII ไม่มีปัญหาเรื่องของการขาดแคลนเกนขยาย เกนขยายที่ 29 dB ของแอมป์นี้สามารถใช้งานกับภาคปรีแอมป์ในตัว Comet ได้เป็นอย่างดี เรียกว่าไม่มีปัญหาทางด้านเทคนิค
ในส่วนของเสียงที่ได้ต้องบอกว่ามันไม่เกินคาดสักเท่าไรนัก การต่อตรงกับภาคขยายเสียงที่มีความเป็นธรรมชาติในน้ำเสียงสูง ๆ อย่างนี้เป็นการเปิดโอกาสให้ Comet ได้เผยศักยภาพในตัวมันออกมามากขึ้นได้อีก
กับเพลงอัลบั้ม Blue (PCM 24/192, HDtracks) ของ Joni Mitchell ซึ่งบันทึกเสียงมาแบบค่อนข้างดิบ ทั้งเสียงร้อง กีตาร์และเปียโน รับรู้ได้ว่ามีการปรุงแต่งทางเสียงมาน้อยถึงน้อยมาก ในบางซิสเต็มฟังแล้วผมว่ามันค่อนข้างแห้ง แข็งและมีลักษณะเสียดแทงอารมณ์มากไปหน่อย ฟังไม่ค่อยเพลินหูสักเท่าไร แต่กับซิสเต็มนี้มันตีความแจกแจงความดิบนั้นออกมาในลักษณะที่ฟังดูสะอาดสะอ้านและมีความเป็นธรรมชาติ
บางช่วงเสียงกีตาร์หรือเปียโนที่ผมนั่งฟังในขณะเปิดไฟสลัวมันชวนให้เผลอเคลิ้มไปได้เหมือนกันว่ากำลังเสพดนตรีสด เสียงต่าง ๆ ที่ถ่ายทอดออกมาอย่างชัดเจนทำให้ตัวผมกับเสียงดนตรีเหมือนได้อยู่ใกล้ชิดกันมาก แต่มิได้ก่าวก่ายซึ่งกันและกัน ผมจึงสามารถปล่อยอารมณ์ให้คล้อยตามไปกับบทเพลงได้อย่างกลมกลืน
เปิดเครื่องแล้วเปิดใจ
ด้วยความที่ Virtus S250 MkII เป็นแอมป์มีกำลังขับมาก แถมยังแยกเป็นโมโนบล็อคแยกอิสระจากกัน ไม่ต้องห่วงว่าวงจรแต่ละข้างจะดึงกำลังกันเอง ทำให้ตัวเลือกในการเล่นลำโพงสำหรับแอมป์คู่นี้นั้นเปิดกว้างมาก
ใครที่คิดว่าจำเป็นต้องใช้แอมป์วัตต์สูง ๆ หรืออยากลองว่าเพิ่มกำลังขับแล้วจะได้อะไรเพิ่มมาบ้าง ยกหูโทรหาแล้วจองคิวให้เขายกไปให้ลองฟังถึงบ้านได้เลยครับ ที่เหลือก็ใช้วิจารณญาณตัดสินกันไปตามเนื้อผ้า ขอเพียงอย่าเพิ่งมองข้ามหรือดูแคลนแอมป์ไทยคู่นี้ไปเสียก่อน
โดยส่วนตัวผมคิดว่าการทำความรู้จักเครื่องเสียงยี่ห้อนี้ นอกจากต้อง ‘เปิดเครื่อง’ เพื่อฟังเสียงของมันแล้ว ยังอาจจะต้องอาศัยการ ‘เปิดใจ’ ร่วมด้วยล่ะครับ เผลอ ๆ เรื่องหลังนี้อาจจะสำคัญกว่าเสียด้วยซ้ำ
ผลิตและจัดจำหน่ายโดย
บริษัท adamashandcraft Co.,Ltd.
โทร. 086-662-8818 / 086-880-5019
ราคา : สอบถามตัวแทนจำหน่าย (เนื่องจากเป็นเครื่องที่รีวิวไว้ตั้งแต่ปี 2558)