fbpx

AV Tech Guide สื่อ Online รีวิว ข่าว ความรู้ ด้านเครื่องเสียง ไฮไฟ โฮมเธียเตอร์ ทีวี สมาร์ทโฟน ไอที มัลติมีเดียและสินค้านวัตกรรม

AV Tech Guide สื่อ Online รีวิว ข่าว ความรู้ ด้านเครื่องเสียง ไฮไฟ โฮมเธียเตอร์ ทีวี สมาร์ทโฟน ไอที มัลติมีเดียและสินค้านวัตกรรม

รีวิว AKG : N30

ส่วนตัวผมเองเป็นแฟนคนหนึ่งของหูฟังยี่ห้อ เอเคจี ‘AKG’ จากประเทศออสเตรีย ทว่าที่ผ่านมารุ่นที่เป็นโดดเด่นของเขาจะเป็นรุ่นในกลุ่มของหูฟังประเภทฟูลไซส์โอเวอร์เอียร์แบบที่ให้นั่งฟังอยู่ที่บ้านหรือสำหรับสตูดิโอเสียเป็นส่วนใหญ่

ทว่าวิถีการใช้ชีวิตของผู้คนยุคปัจจุบันมีแนวโน้มที่จะฟังเพลงในขณะที่กำลังสัญจรมากขึ้นหูฟังขนาดใหญ่เหล่านั้นคงไม่ใช่ตัวเลือกที่น่าสนใจเป็นแน่

ทีมวิศวกรออกแบบของ AKG เองก็คงมองเห็นพฤติกรรมเหล่านี้ด้วยเช่นกัน จึงเป็นเหตุให้ AKG ได้ขยับมาให้ความสำคัญกับหูฟังขนาดเล็กมากขึ้น สังเกตได้จากหูฟังขนาดเล็กของ AKG ที่มีให้เลือกใช้ตั้งแต่ระดับราคาหลักร้อยจนถึงระดับหลักหมื่นอย่างเช่นหูฟัง AKG N30 ที่ผมกำลังรีวิวอยู่นี้

หูฟังไฮบริดสำหรับไฮเรสฯ
AKG N30 จัดอยู่ในกลุ่มหูฟังขนาดเล็กแบบสอดหูประเภทอินเอียร์กึ่งเอียร์บัด เปิดตัวครั้งแรกในปี 2017 พร้อม ๆ กับหูฟังรุ่น N25, N40 และหูฟังไร้สายตระกูล N Series อีกจำนวนหนึ่ง ในแง่ของการใช้งานตามเทรนด์ไลฟ์สไตล์ไม่ปฏิเสธว่าในยุคนี้คงต้องยกให้หูฟังประเภทไร้สาย แต่ถ้าหาก ‘คุณภาพเสียง’ คือสิ่งแรกที่ให้ความสำคัญ ดูเหมือนว่าหูฟังรุ่น N30 จะเกิดมาเพื่อสิ่งนั้น

หูฟังรุ่น N30 เป็นรุ่นรองลงมาจาก N40 หูฟังรุ่นเรือธงใน N Series ด้านการออกแบบนั้น N30 ได้ถอดแบบคุณลักษณะของ N40 มาในหลายส่วน ที่มอง เห็นได้จากภายนอกก็คือรูปร่างหน้าตาของตัวหูฟัง อีกส่วนก็คือ ‘คุณภาพเสียง’

ซึ่งทาง AKG คุยว่านอกจากมันจะมีคุณสมบัติรองรับไฟล์เสียงรายละเอียดสูงหรือ Hi-Res Audio ได้อย่างสบาย ๆ แล้ว หูฟังรุ่นนี้ยังเป็นมิตรกับอุปกรณ์เล่นเพลงประเภท เครื่องเล่นพกพา หรือแม่กระทั่งสมาร์ทโฟนซึ่งปัจจุบันได้กลายเป็นเครื่องเสียงพกพาของหลาย ๆ คนไปแล้ว

ชัดเจนว่า Smartphone Friendly

สำหรับการออกแบบด้านอื่น ๆ ที่น่าสนใจของหูฟังรุ่นนี้ได้แก่ การใช้ไดรเวอร์แบบลูกผสม เป็นการใช้ไดรเวอร์คนละประเภทมาทำงานร่วมกันหรือที่นิยมเรียกกันว่าไฮบริด (Hybrid)

โดยในรุ่น N30 ทาง AKG ได้เลือกใช้ไดรเวอร์ในหูฟังข้างละ 2 ตัว ตัวหนึ่งเป็นไดรเวอร์แบบไดนามิก (Dynamic Driver) ทำงานให้เสียงในย่านความถี่ต่ำ ไดรเวอร์อีกตัวเป็นแบบบาลานซ์อามาเจอร์ (Balanced Armature Driver, BA) ทำงานให้เสียงในย่านความถี่เสียงกลางและเสียงแหลม

ไดรเวอร์แบบไฮบริดในตัวหูฟัง AKG N30

ไดรเวอร์ทั้งคู่ติดตั้งอยู่ในตัวเรือนหูฟังที่ทำจากโลหะสแตนเลส (Stainless steel housing) ที่ขึ้นรูปเป็นทรงให้เข้ารูปกับช่องว่างของพื้นที่บริเวณด้านหน้ารูหู ตัวท่อนำเสียงที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 4-5 มิลลิเมตรถูกออกแบบให้ทำมุมเอียงรับกับรูปทรงของรูหูช่วยให้การสวมใส่มีความกระชับเข้ารูปได้ง่ายยิ่งขึ้น

หูฟังรุ่น N30 มีอิมพิแดนซ์เฉลี่ย 32 โอห์ม ความไว 101dB (SPL/V @1kHz) ตอบสนองช่วงความถี่เสียงตั้งแต่ 20Hz-40kHz น้ำหนักเพียง 19.5 กรัม มีสีตัวเรือนหูฟังให้เลือก 2 คือ สีเงิน/ดำทูโทน และสีดำล้วนเหมือนตัวที่ผมรีวิวอยู่นี้

หูฟังที่ ‘เลือกเสียง’ และ ‘เลือกเล่น’ ได้
AKG ได้ออกแบบให้ตัวหูฟัง N30 มีส่วน ‘ฟิลเตอร์เสียง’ ที่สามารถถอดเปลี่ยนได้ ตัวฟิลเตอร์นี้มีลักษณะเป็นจุกเกลียวปิดที่ปลายท่อนำเสียงของหูฟัง เปิดโอกาสให้ผู้ใช้สามารถจูนเสียงได้ด้วยฟิลเตอร์ 2 ประเภทที่ให้มาด้วยพร้อมกับหูฟัง

ฟิลเตอร์ชุดหนึ่งมีชื่อเรียกว่า ‘REFERENCE SOUND’ ให้เสียงที่มีลักษณะเป็นไปตามเสียงอ้างอิงที่ทีมออกแบบของ AKG ได้เลือกปรับแต่งเอาไว้ ฟิลเตอร์ชุดนี้จะกับหูฟังเลยจากโรงงาน

สำหรับฟิลเตอร์อีกหนึ่งชุดมีชื่อเรียกว่า ‘BASS BOOST’ คุณสมบัติก็เป็นไปตามชื่อเลยครับ ฟิลเตอร์ตัวนี้จะให้ปริมาณเสียงทุ้มที่มีมวลเนื้อมากขึ้นเมื่อเทียบกับฟิลเตอร์แบบแรก

ตัวสายหูฟังของ AKG N30 เป็นสายแบบปลดได้ เชื่อมต่อกับตัวเรือนหูฟังด้วยขั้วต่อประเภท MMCX เคลือบทองอย่างดี ทำให้ผู้ใช้สามารถเปลี่ยนสายได้ง่าย ๆ หากสายเดิมเกิดชำรุดในอนาคต หรือจะเป็นการเปลี่ยนสายต่างยี่ห้อเพื่อลองเล่นกับการปรับจูนเสียงด้วยสายก็สามารถทำได้ง่ายเช่นกัน

ตัวหูฟัง จุกซิลิโคนและฟิลเตอร์ที่สามารถสับเปลี่ยนได้

ฉนวนด้านนอกของสายห่อหุ้มด้วยวัสดุคล้ายใยผ้า ฉนวนด้านในมีความยืดหยุ่นสูง มีลักษณะอ่อนนุ่ม และน้ำหนักเบา ขั้วต่อปลายสายที่รับเสียงเข้ามาเป็นขั้วต่อแบบมินิแจ็ค 3.5mm เคลือบทองอย่างดีเช่นกัน

ขั้วต่อมินิ 3.5mm ที่รองรับการใช้งานร่วมกับสมาร์ทโฟน และสวิตช์เลือกใช้งานระหว่างอุปกรณ์ Android และ iOS
ขั้วต่อ MMCX ของ AKG N30

และเนื่องจากมันถูกออกแบบมาให้ใช้งานร่วมกับอุปกรณ์ประเภทสมาร์ทโฟนด้วย ที่ตัวสายหูฟังยังมีไมค์สำหรับคุยสายและปุ่มรีโมตคอนโทรล 3 ปุ่มสำหรับควบคุมการเล่นเพลง และปรับความดังของเสียง นอกจากนั้นยังมีสวิตช์เลื่อนตัวเล็กให้เลือกได้อีกว่าจะใช้งานกับสมาร์ทโฟนที่เป็นระบบปฏิบัติการใดระหว่าง iOS และ Android

แกะกล่องลองใช้งานและฟังเสียง
หูฟัง AKG N30 บรรจุมาในกล่องกระดาษแข็งดีไซน์ทันสมัย ภายในกล่องแบ่งช่องบรรจุอุปกรณ์ต่าง ๆ มาได้อย่างเป็นระเบียบ นอกจากตัวหูฟัง สายหูฟัง แล้วในกล่องยังพบจุกซิลิโคนอีก 3 คู่ ที่มีขนาดลดหลั่นกันไป รวมกับคู่ที่ติดมากับตัวหูฟังก็รวมทั้งหมดเป็น 4 คู่ ให้เลือกเปลี่ยนได้ตามขนาดของรูหูผู้ใช้งานแต่ละคน (ขนาดของซิลิโคนสำคัญมากต่อคุณภาพเสียง เพราะหูฟังประเภทนี้ต้องการการซีลเสียงที่ดีจึงจะได้ประสิทธิภาพเต็มที่)

อุปกรณ์ที่มาในกล่อง A) จุกซิลิโคนหลายขนาด B) ที่แคะเศษขี้หู C) กล่องเก็บหูฟัง D) ตัวหูฟัง E) แจ็คแปลงสำหรับเครื่องบิน… *สายหูฟังและฟิลเตอร์จะอยู่ในฝาปิดด้านล่าง

ยังมีแท่งพลาสติกเล็ก ๆ ที่ให้มาสำหรับไว้ใช้เขี่ยเศษขี้หูออกจากจุกซิลิโคน มีกล่องเก็บหูฟังเพื่อการพกพาแถมให้มาด้วย เป็นกล่องทรงแคปซูลป้อม ๆ ขนาดเล็กกะทัดรัดเปิด-ปิดด้วยซิป

กล่องเก็บหูฟังนี้แม้ว่าจะใช้งานได้จริงไม่ได้มีปัญหาอะไร แต่ก็ดูไม่ค่อยสมราคานักเมื่อเทียบกับค่าตัวของ AKG N30 หรือเทียบกับกล่องเก็บหูฟังของหูฟังที่มีราคาถูกกว่าอย่างเช่น 1MORE Quad Driver

นอกจากนั้นใครที่มักจะเดินทางด้วยเครื่องบินโดยสารหูฟังรุ่นนี้เขายังแถมอะแดปเตอร์แปลงหัวแจ็คสำหรับใช้งานบนเครื่องบินมาให้ด้วยครับ ก็สะดวกดีไม่ต้องไปหาซื้อเพิ่มเอาเอง หรือต้องไปทนใช้หูฟังถูก ๆ ที่ทางสายการบินส่วนใหญ่มักจะจัดหามาให้ใช้ในระหว่างการเดินทาง

การสวมใส่ใช้งานหูฟังรุ่นนี้เป็นลักษณะที่ต้องเอาสายหูฟังคล้องอ้อมรอบใบหูไปทางด้านหลัง ผมพบว่าการจะใส่หูฟังรุ่นนี้ให้กระชับสำหรับหูของผม จำเป็นต้องเรียนรู้มุมการใส่อยู่สักพัก ไม่เช่นนั้นแล้วมันจะหลวมคลอนและเกิดอาการเสียงรั่วได้ง่ายแม้ว่าจะเลือกจุกซิลิโคนให้พอดีแล้วก็ตาม

AKG N30 ขณะสวมใส่ใช้งาน

หลังจากเรียนรู้การสวมใส่ได้กระชับพอดีแล้วผมพบว่าหูฟังรุ่นนี้น้ำหนักเบาและกะทัดรัดมาก แต่คุณภาพเสียงของมันน่ะสิครับไม่กะทัดรัดตามขนาดตัวเลย!

ก่อนอื่นต้องขอชมเชยว่า AKG N30 มีบาลานซ์เสียงที่จัดว่า ‘ยอดเยี่ยม’ มันทำให้ผมนึกถึงหูฟังมอนิเตอร์ที่ผมคุ้นเคยอย่างเช่น AKG K550, Shure SRH940 หรือแม้แต่ AKG K812 ที่ราคาเลยครึ่งแสนแต่ผมฟังแล้วถูกใจมาก ๆ และเสียงของมันห่างไกลจากสไตล์เสียงของหูฟัง Beats ที่เน้นเสียงทุ้มเหมือนยก EQ ตลอดเวลาไปไกลมาก

เสียงที่ถ่ายทอดจาก AKG N30 มีความตรงไปตรงมา รายละเอียดพร่างพราว เวทีเสียงเปิดกว้าง โล่ง โปร่งและสะอาดมาก รายละเอียดของแต่ละเสียงและฮาร์มอนิกส์ของมันมีลักษณะแจกแจง เปิดเผย ควบคู่ไปกับสีสันของเสียงอย่างลงตัวพอดิบพอดี ทั้งยังไม่มีลักษณะของเสียงที่โด่งหรือล้ำหน้าออกมาเฉพาะในช่วงความถี่ใดความถี่หนึ่ง

ทุกรายละเอียดเสียงรับรู้ได้ชัดเจนว่าเป็นไปตามที่เสียงต้นฉบับส่งมาด้วยความซื่อสัตย์ ‘garbage in, garbage out’ ตัวอย่างอัลบั้มเพลงที่ผมฟังแล้วรู้สึกชอบใจเป็นพิเศษคือ Don’t Smoke in Bed ของ Holly Cole Trio (ไฟล์ DSD จาก Acoustic Sounds)

อย่างไรก็ดีด้วยความที่เป็นหูฟังที่ขับได้ค่อนข้างง่าย สมาร์ทโฟนทั่วไปมีเรี่ยวแรงพอขับหูฟังตัวนี้ได้แน่นอน แต่อย่าลืมว่ามันเป็นหูฟังที่ให้เสียงตรงไปตรงมาด้วย ดังนั้นถ้าหากจะใช้กับสมาร์ทโฟนอย่างมีความสุขก็ขอให้เลือกคุณภาพกันสักหน่อย ทั้งคุณภาพของสมาร์ทโฟน คุณภาพของไฟล์เสียง ตลอดจนคุณภาพของแอปฯ เล่นเพลง อย่าให้มีส่วนใดที่ย่ำแย่เสียจนพิกลพิการ ไม่เช่นนั้นแล้วหูฟังตัวนี้มันจะฟ้องสิ่งเหล่านั้นออกมา ฟังแล้วก็ไม่เพลินไม่มีความสุขอย่างที่ควรจะเป็นกันล่ะครับ

ลองใช้งานกับสมาร์ทโฟนทั้ง Android และ iOS

ในรีวิวนี้นอกจากผมจะใช้สมาร์ทโฟนและแอปฯ เล่นเพลงที่ใช้งานกันอยู่ประจำแล้ว ผมยังมีเครื่องเล่น Cayin N3 และ DAC/AMP ไฮบริด (โซลิดสเตท + หลอด) ของยี่ห้อ Alo รุ่น Continental Dual Mono ใช้งานอยู่เป็นส่วนใหญ่ตลอดการรีวิวด้วยครับ

ยืนยันและตอกย้ำกันอีกทีว่า เสียงที่ถ่ายทอดจาก AKG N30 สมควรได้รับการยกย่องว่าเข้าข่ายเสียงที่เป็นไฮเรสฯ โดยแท้จริง เป็นไฮเรสฯ กันตลอดทั้งย่านความถี่ เป็นเสียงที่มีความเที่ยงตรง ชัดเจน สะอาด ให้รายละเอียดเสียงพร่างพราวและเกลี้ยงเกลาในคราวเดียวกัน

ลองฟังกับ DAP ของยี่ห้อ Cayin รุ่น N3

ไม่ใช่แค่เพียง ‘ติดโลโก้ Hi-Res Audio’ ไว้โก้ ๆ เหมือนที่หูฟังหลายรุ่นสมัยนี้นิยมทำกัน ทั้งหูฟังในกลุ่มแบรนด์เนมและหูฟังโนเนม แต่เสียงที่ถ่ายทอดออกมาไม่เห็นจะเป็นไปตามนั้น เท่ากับว่าเป็นไฮเรสฯ หลอก ๆ นั่นเอง

Bass Boost
ผมมีโอกาสได้ลองฟัง AKG N30 แบบเปลี่ยนไปใช้งานฟิลเตอร์ ‘Bass Boost’ ด้วยครับ ซึ่งเสียงที่ได้ก็เป็นไปตามชื่อของตัวฟิลเตอร์นั่นแหละครับ แต่อย่าเพิ่งคิดว่ามันจะทำให้ AKG N30 กลายร่างไปเป็น ‘หูฟังบ้าเบส’ หรือหูฟังที่มีแต่เสียงทุ้มเยอะ ๆ แล้วไม่สนใจความถี่อื่น ๆ เลย

เสียงทุ้มที่ถูกยกขึ้นมาด้วยฟิลเตอร์ ‘Bass Boost’ ทำให้เสียงของหูฟังรุ่นนี้มีความหนาในเนื้อเสียงมากขึ้น มีบรรยากาศของความถี่ต่ำอบอวลอยู่รอบ ๆ ตัวเสียงมากขึ้น มีปริมาณเสียงทุ้มที่ถูกเน้นขึ้นมามากขึ้น เป็นผลให้เสียงย่านกลางต่ำขึ้นไปและย่านเสียงกลางมีลักษณะหนาขึ้นเล็กน้อย แต่ภาพรวมทั้งหมดยังจัดว่ามีบาลานซ์ที่ดีและมีลักษณะเปิดเผยแทบไม่ต่างจากตอนที่ใช้ฟิลเตอร์ ‘REFERENCE SOUND’

คำถามว่า… แล้วเราจะได้ใช้งานฟิลเตอร์ ‘Bass Boost’ ตอนไหน? ในเมื่อเราซื้อหูฟังรุ่นนี้เพราะชอบเสียงตอนที่ใช้ฟิลเตอร์ ‘REFERENCE SOUND’

ลองเล่นกับฟิลเตอร์ของ AKG N30 ซึ่งมีผลโดยตรงกับบุคลิกเสียง

ทีแรกผมเองก็เกิดความสงสัยเช่นนั้นจนกระทั่งได้พบกับความจริงบางอย่างในระหว่างการใช้งาน ที่พบว่าหลายวาระเพลงที่เราอยากฟังอาจจะมีคุณภาพการบันทึกเสียงที่ยังขาด ๆ เกิน ๆ อยู่ อย่างเช่นในอัลบั้มรวมเพลงฮิตของ Whitney Houston ซึ่งเพลงดีมาก

ผมพบว่าแม้จะใช้ source ที่ดีเล่นเพลงแต่คุณภาพเสียงที่ออกมาเมื่อถูกชำแหละโดย AKG N30 ความน่าฟังมันลดทอนลงไปพอสมควร ในทำนองเดียวกับการฟังเพลงจากสตรีมมิ่ง Spotify ที่กำหนดคุณภาพของเสียงได้ไม่ง่ายนัก การใช้ฟิลเตอร์ ‘Bass Boost’ สามารถช่วย ‘รอมชอม’ ความไม่สมบูรณ์เหล่านั้นได้พอสมควร ทำให้ผมสามารถเสพงานเหล่านั้นได้อย่างมีความสุขมากขึ้น

ฟังเปรียบเทียบ
ผมยังคงใช้เพลงต่าง ๆ ที่ใช้ในการฟังเปรียบเมื่อตอนที่รีวิวหูฟัง Shure SE215m+SPE มาใช้ในการฟังเปรียบเทียบหูฟัง AKG N30 กับหูฟังรุ่นอื่นที่ผมคุ้นเคย และนี่คือผลลัพธ์ที่ได้ครับ

AKG N30 ฟังเทียบกับ Shure SE215m+SPE :
แม้ราคาจะต่างกันราว ๆ 3 เท่า แต่เสียงของหูฟังทั้ง 2 รุ่นนี้ก็มีความละม้ายกันอยู่โดยเฉพาะในแง่ความบาลานซ์ของเสียงและลักษณะการให้เสียงที่กระจ่างเปิดเผย แต่เมื่อพิจารณาในรายละเอียดแล้วสิ่งที่ผมได้ยินจาก AKG N30 มีความครบถ้วนสมบูรณ์มากกว่า มีความเที่ยงตรงเป็นกลางมากกว่า และเป็นเช่นนั้นตลอดทั้งย่านความถี่เสียง

ถ้าหากฟังผิวเผินอาจจะรู้สึกว่า Shure SE215m+SPE มีความคุ้มค่าต่อราคาในระดับที่มากกว่า แต่ถ้าใช้เวลากับ AKG N30 นาน ๆ แบบผมแล้ว เชื่อเหลือเกินว่าจะกลับไปยอมรับเสียงที่ยัง ‘ได้ไม่เท่า’ ยากจริง ๆ ครับ

AKG N30 ฟังเทียบกับ 1MORE Quad Driver :
ผมใช้งานหูฟัง 1MORE Quad Driver เป็นการส่วนตัวมาสักพักแล้วครับ พอได้มาฟัง AKG N30 สิ่งแรกที่ผมรู้สึกก็คือเสียงมันแตกต่างกันอย่างชัดเจน ชัดมากครับ ชัดแบบไม่ต้องเสียเวลาเทียบกันหลายเพลงเลย

ถ้าผมฟัง 1MORE Quad Driver อยู่สักพักแล้วเปลี่ยนมาฟัง AKG N30 สิ่งแรกที่จะรู้สึกเลยก็คือมวลเสียงทั้งหมดมันบางลง เสียงทุ้มมีน้ำหนักและความอิ่มหนาของเนื้อเสียงลดลง แต่น่าแปลกว่าแม้เสียงมันจะต่างกันขนาดนั้นแต่ผมก็ไม่รู้สึกปฏิเสธมันเลย มันเป็นความต่างในเรื่องของบุคลิกลักษณะเสียง ไม่ใช่ความแตกต่างของเสียงที่ดีและเสียงที่เลว

ในทางกลับกันถ้าหากผมฟัง AKG N30 อยู่นานจนชินหูแล้วเปลี่ยนมาฟัง 1MORE Quad Driver สิ่งแรกที่จะรู้สึกเลยก็คือมวลเสียงทั้งหมดจะอิ่มหนามากขึ้น ได้ยินเสียงทุ้มที่มีความอวบอิ่มมากขึ้น ความกระจ่างพร่างพราวในน้ำเสียงลดลงมาเล็กน้อย

แล้วก็เช่นกันที่ผมไม่รู้สึกปฏิเสธเสียงเหล่านั้น ผมว่าเสียงของ AKG N30 เมื่อใส่ฟิลเตอร์ ‘Bass Boost’ จะฟังดูกระเดียดคล้ายมาทาง 1MORE Quad Driver มากขึ้น แต่ก็ยังมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจนอยู่ดี

ผมนั่งถามตัวเองว่าเพราะอะไร ทำไมผมถึงยอมรับความแตกต่างที่ชัดเจนขนาดนั้นได้ ทำไมผมถึงไม่เลือกชอบตัวหนึ่งและรังเกียจอีกตัวหนึ่งไปเลย ในเมื่อมันแตกต่างกันชัดเจนขนาดนั้น

คำตอบที่ความคิดของผมตกผลึกออกมาได้ก็คือ เพราะว่าหูฟังทั้งสองยังคงรักษาคุณภาพและความเป็นดนตรีของเสียงเอาไว้ได้ ความแตกต่างของมันเป็นเพียงแนวทางการปรับแต่งเสียงที่แต่ละยี่ห้ออยากจะนำเสนอออกมา ผมนั่งฟังหูฟังทั้ง 2 รุ่น กลับไปกลับมาผมบัญญัติศัพท์ที่ใช้อธิบายได้ตรงใจมา 2 คำ คำแรก ‘Natural Musical’ เป็นของหูฟัง 1MORE Quad Driver และ ‘Accurate Reveal’ เป็นของ AKG N30

อย่างไรก็ดี เมื่อฟังเปรียบเทียบกันถึง ณ จุดหนึ่ง ก็ต้องยอมรับโดยดุษฎีว่า AKG N30 มีคุณสมบัติในการถ่ายทอดเสียงรายละเอียดสูงได้ครบถ้วนสมบูรณ์แบบกว่าจริง ๆ พูดให้ชัดกว่านั้นก็คือแม้ว่ามันจะแพงกว่าแต่ก็แพงกว่าแบบสมเหตุสมผล ดังนั้นผมจึงไม่สามารถตัดสินใจได้ว่าใครคุ้มค่ากว่ากัน แต่ที่แน่ ๆ มันทำให้ผมอยากเก็บมันเอาไว้ทั้งคู่เลยครับ

ความเห็นโดยสรุป
ส่วนตัวผมมีหูฟังอยู่หลายตัวเอาไว้สำหรับใช้งานในโอกาสต่างกัน แต่เวลาที่ผมต้องการพิจารณาเรื่องของเสียงเป็นพิเศษหรือต้องการเปรียบเทียบเครื่องเสียงมากกว่าหนึ่ิงชิ้นเพื่อชี้ชัดในรายละเอียดบางอย่าง หูฟังที่ผมเลือกมาใช้งานมักจะเป็น Shure SRH940 หูฟังของชัวร์รุ่นนี้ไม่ใช่หูฟังที่สมบูรณ์แบบแต่มันมีคุณสมบัติบางอย่างที่ผมต้องการ

แต่เนื่องจากหูฟังของชัวร์รุ่นนี้มีขนาดค่อนข้างใหญ่บางครั้งจะพกไปนอกสถานที่ก็ไม่ค่อยสะดวกนัก ทำให้ในช่วงเวลาหนึ่งผมเคยตามหาหูฟังขนาดเล็กที่ให้เสียงในทำนองเดียวกันกับ Shure SRH940 มาใช้งาน แต่จนแล้วจนรอดก็ยังไม่เจอกันสักที แต่หลังจากที่ผมได้ลองฟัง AKG N30 ผมว่านี่แหละครับสิ่งที่ผมกำลังตามหา

เสียงที่ได้จากหูฟัง AKG N30 คือลักษณะของหูฟังมอนิเตอร์โดยแท้ เสียงเปิด สดใส กระจ่างชัด แต่ไม่จัดจ้านหรือเจิดจ้าเกินงาม รายละเอียดของเสียงชัดเจน มีทรวดทรงของมวลเนื้อเสียงที่กระชับได้รูป เป็นรายละเอียดที่รับรู้ได้ว่าไม่มากและไม่น้อยเกินไป จะว่าไปผมว่ามันทำหน้าที่ได้ดีกว่า Shure SRH940 เสียด้วยซ้ำ

ดังนั้นกับงบประมาณระดับหมื่นต้น ๆ โดยส่วนผมมองว่านี่คือความคุ้มค่าเพราะผมทราบดีว่าเสียงอย่างนี้หาไม่ได้ง่าย ๆ ในหูฟังทั่วไป และมันทำให้การตามหาของผมสิ้นสุดลงแล้วล่ะครับ


นำเข้าและจัดจำหน่ายโดย
บริษัท เอ็ม.ไอ.เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด
โทร. 0-2254-3316-9
ราคา 12,000 บาท

มนตรี คงมหาพฤกษ์

ผู้ก่อตั้งสื่อออนไลน์ AV Tech Guide อดีตบรรณาธิการบริหารนิตยสารและออนไลน์ GM2000 Magazine จบการศึกษาจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สนใจเครื่องเสียงทั้งระบบอะนาล็อกและดิจิทัล ใช้งานสมาร์ทโฟนทั้ง iOS และ Android ใช้คอมพิวเตอร์ทั้ง macOS และ Windows หลงใหลเทคโนโลยีเป็นชีวิตจิตใจ ตอนนี้กำลังเห่อระบบบันทึกเสียงและไมโครโฟนแบบมืออาชีพ