fbpx
KNOWLEDGE

QLED กับ OLED TV ชื่ออาจคล้ายกัน แต่เทคโนโลยีต่างกันโดยสิ้นเชิง

ในช่วง 1-2 ปีมานี้ เราได้เห็นทีวีประเภทหนึ่งที่ค่อนข้างใหม่เริ่มเป็นที่แพร่หลายในตลาด มันถูกเรียกว่า QLED TV โดยทางซัมซุงเป็นผู้บัญญัติและจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าชื่อนี้ขึ้นมา

QLED TV ได้ปรากฏสู่สายตาคนทั่วโลกครั้งแรกในงาน CES 2017 ในส่วนของเครื่องหมายการค้า QLED นั้นไม่ได้ใช้ได้เฉพาะกับสินค้าของทางซัมซุงเพียงผู้เดียว ยักษ์ใหญ่ทางด้านอิเล็กทรอนิกส์จากเกาหลีใต้ยังได้ร่วมมือกับผู้ผลิตจากประเทศจีน อย่าง Hisense และ TCL เมื่อเดือน เมษายน 2017 ที่ผ่านมา และได้มีการประกาศจัดตั้งสมาพันธ์ QLED ขึ้น

หลังจากนั้นในงาน CES 2018 เมื่อต้นปีที่ผ่านมา เราจึงได้เห็น QLED TV เป็นหนึ่งในไลน์สินค้ารุ่นใหม่ของยี่ห้อ TCL

เมื่อมีการรวมตัวกันของพันธมิตรทางธุรกิจ นั่นก็หมายความว่าได้เกิดการแบ่งฝ่ายกันไปโดยปริยายแล้ว ซึ่งในกรณีนี้ก็เห็นจะหนีไม่พ้น QLED TV และ OLED TV สองเทคโนโลยีที่ว่ากันว่าทันสมัยที่สุดในเวลานี้สำหรับอุตสาหกรรมทีวี

ที่ผ่านมา OLED TV ได้รับการยกย่องจากบรรดาสื่อและนักวิจารณ์ทั่วโลก โดยมี LG เป็นเจ้าแรก ๆ ที่นำเทคโนโลยีนี้มานำเสนอตั้งแต่ปี 2017 หลังจากนั้น Sony ที่กำลังมาแรงเช่นกันก็ได้นำ OLED TV ของตัวเองเข้าสู่ตลาดเพื่อลงแข่งกับเทคโนโลยี QLED TV อย่างดุเดือด

อย่างไรก็ตามซัมซุงดูเหมือนจะพร้อมที่จะตอบสนองต่อความท้าทายดังกล่าว ที่ผ่านมาพวกเขาได้ทำการปรับปรุงเทคโนโลยีของ QLED TV ให้มีประสิทธิภาพเป็นที่น่าประทับใจมากขึ้นเรื่อย ๆ

ด้วยเหตุนี้ มาดูกันว่า คำว่า QLED ที่มีเสียงคล้าย OLED มากนั้นเมื่อนำมาเปรียบเทียบความสามารถของเทคโนโลยีการแสดงผลกันแบบตัวต่อตัวระหว่าง QLED กับ OLED ผลลัพธ์จะเป็นเช่นไร

ก่อนอื่นเรามาดูกันว่า QLED คืออะไร กันก่อนที่จะทำการเปรียบเทียบเทคโนโลยีกันแบบจุดต่อจุดให้เห็นกัน

QLED คืออะไร?
โดยทั่วไปแล้ว QLED TV เป็นเพียงทีวี LED ที่ใช้เทคโนโลยีควอนตัมดอทมาเพิ่มประสิทธิภาพในส่วนของการแสดงผล อย่างไรก็ตามทางซัมซุงได้กล่าวอ้างว่า QLED TV เป็นอะไรที่พิเศษกว่านั้น มันให้ความสว่างที่มากกว่าเทคโนโลยีทีวีใด ๆ ในเวลานี้ มี black level ดีกว่า LED TV ทั่วไป และยังให้ภาพที่มีสีสันมากกว่าทีวีทั่วไปที่ไม่ได้ใช้เทคโนโลยีควอนตัมดอท

มันทำเช่นนั้นได้อย่างไร? เทคโนโลยีควอนตัมดอททำหน้าที่เหมือนกับตัวกรองแสงจาก LED แต่ให้ภาพที่มีความสว่างสดใสมากกว่าเนื่องจากมันเป็นวัตถุเรืองแสงได้และมีความไวต่อแสง

ปัจจุบันมี LED TV หลายรุ่นที่ได้นำเทคโนโลยีควอนตัมดอทไปใช้เพื่อให้มีคุณสมบัติเป็นไปตามข้อกำหนดสำหรับ Ultra HD Premium TV ของ Ultra HD Alliance

ซัมซุงคิดว่ามันน่าจะช่วยลดความสับสนได้หากผู้ผลิตรายใหม่เริ่มเรียกเทคนิคนี้ว่า QLED TV ด้วย เหตุผลก็คือการแบ่งแยกตัวออกมาจาก LED TV ทั่วไป และตั้งการ์ดต่อกรกับ OLED TV อย่างเต็มตัว เนื่องจาก Samsung ยังไม่มีแผนที่จะผลิต OLED TV ในขณะนี้

อย่างไรก็ตาม ในอีกด้านหนึ่ง Samsung เองก็ได้พัฒนา microLED TV ออกมาปะทะกับ OLED TV ด้วย และจากภาพของ microLED TV ที่ปรากฏในงาน CES 2018 ที่ผ่านมา คนส่วนใหญ่ก็ลงความเห็นว่า microLED มีศักยภาพในการแข่งขันกับ OLED ที่สูงพอสมควร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาถึงระดับความสว่างและระดับความเข้มของสีดำ

สิ่งที่ QLED ไม่ได้เป็น
QLED ไม่ใช่เทคโนโลยีการแสดงผลแบบ emissive เหมือนกับ plasma, OLED หรือ MicroLED เทคโนโลยีควอนตัมดอทไม่ได้ให้กำเนิดสีออกมาให้เราเห็นได้โดยตรง มันจะกระจายอยู่บนแผ่นฟิล์มที่ทำหน้าที่เกือบจะเป็นตัวกรองภายในแผง LED TV แสงไฟ LED แบ็คไลต์ที่ผ่านฟิล์มนี้จะถูกปรับให้เข้ากับอุณหภูมิสีที่เหมาะสม ทำให้ความสว่างและสีสันเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก

ถ้าควอนตัมดอทสร้างแสงให้เกิดขึ้นเอง QLED TV ก็อาจถูกเรียกว่า emissive display แต่ความจริงแล้วมันไม่ได้เป็นเช่นนั้น

แล้ว OLED คืออะไร?
OLED ย่อมาจาก Organic Light-Emitting Diode หรือไดโอดที่เปล่งแสงได้ด้วยสารอินทรีย์เมื่อถูกกระตุ้นด้วยกระแสไฟฟ้า มันจึงถูกจัดอยู่ในประเภทจอภาพแบบ emissive display โดยทุก ๆ จุดพิกเซลบนหน้าจอก็คือหลอด LED หนึ่งตัว

ดังนั้นบนหน้าจอทีวีจึงเท่ากับมีหลอดไฟส่องสว่างได้เป็นล้านจุดและสามารถเปิด-ปิดตัวเองได้อย่างอิสระในทุก ๆ พื้นที่ของจอทีวี เมื่อหลอดไฟเหล่านั้นถูกสั่งให้ปิดสนิทมันจึงทำให้ภาพสีดำมีความดำสนิทอย่างแท้จริง

ในขณะที่ QLED สามารถทำให้ตัวจอบางมากได้ OLED ก็ทำได้เช่นกัน อีกทั้ง OLED ยังสามารถทำให้บางมาก ๆ แล้วยังมีความยืดหยุ่นมากกว่าได้อีกด้วย

เนื้อหาต่อไปนี้จะเป็นการเปรียบเทียบกันในแต่ละด้านและดูว่าเทคโนโลยีใดมีจุดเด่นทางด้านไหน ไม่ว่าจะเป็น คอนทราสต์, มุมมอง, ความสว่าง และประสิทธิภาพด้านอื่น ๆ

เปรียบเทียบ BLACK LEVEL (ระดับความดำของภาพ)
อย่างที่ทราบกันดีว่าเมื่อเทียบกันในแง่ของสีดำ OLED TV นั้นไม่เป็นที่ต้องสงสัยในคุณภาพของสีดำ ในขณะเดียวกัน QLED TV ก็ได้พยายามปรับปรุงประสิทธิภาพระดับสีดำบนจอแสดงผล LED แต่ก็ยังคงต้องพึ่งพาแสงไฟสว่างที่มาจากทางด้านหลังจอ LCD

แม้เทคโนโลยีการลดแสงสะท้อนแบบใหม่จะช่วยลดแสง LED ที่ไม่จำเป็นต้องเปิดไฟให้สว่างเต็มที่ แต่ QLED TV ก็ยังคงได้รับผลกระทบที่เรียกว่า “แสงลอด” เกิดแสงสว่างลอดออกมาจากจอภาพในตอนที่จอดำไม่มีภาพ

ผลกระทบนี้เห็นได้ชัดในฉากที่มีดาวสว่างบนท้องฟ้ายามค่ำคืนหรือในแถบดำด้านบนและด้านล่างของหนัง ผลที่ได้คือเกิดเป็นหมอกควันหรือรัศมีแสงเล็ก ๆ รอบวัตถุที่สว่างจึงทำให้ขอบของภาพไม่คมชัด

ปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นตั้งแต่การถือกำเนิดของ QLED และถือเป็นลักษณะประจำตัวของแผงจอดังกล่าว แต่ทางซัมซุงก็ได้พัฒนาแผงควอนตัมใหม่ขึ้นในปี 2018 ด้วยคุณภาพที่ก้าวกระโดดเพื่อปรับปรุงระดับสีดำและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของภาพนอกมุมมองให้อยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับ OLED TV ด้วยการเพิ่มชั้นป้องกันแสงสะท้อนใหม่ในแผงจอภาพ

เปรียบเทียบ BRIGHTNESS (ความสว่างของภาพ)
เมื่อพูดถึงความสว่างของ QLED TV มีข้อได้เปรียบอยู่มาก LED TV ให้ประสบการณ์ในการรับรู้ถึงความสว่างมากอยู่แล้ว ยิ่งเพิ่มจุดควอนตัมเข้าไปยิ่งเป็นการเพิ่มความสว่างให้มากยิ่งขึ้น ด้วยเหตุนี้ QLED TV จึงกล่าวอ้างว่าเป็นจอที่ให้ “ปริมาณความเข้มข้นของสี” ได้ดีกว่าจอแบบอื่น

ในความหมายก็คือสามารถทำให้สีสันที่ปรากฏดูสว่างขึ้นโดยไม่เกิดการสูญเสียความอิ่มของเนื้อสีไป ผู้ผลิต QLED TV ยังอ้างว่าความสว่างที่ได้จากจอ QLED ยังเป็นผลดีกับภาพในแบบ HDR เนื่องจากภาพที่ได้จะชัดเจนยิ่งขึ้น เช่น แสงสะท้อนจากทะเลสาบหรือสีรถยนต์ที่เงาวาวจะเต็มไปด้วยประกายและมองเห็นได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในห้องที่มีแสงสว่าง ความสว่างของ QLED TV ดูจะเป็นประโยชน์มาก

เมื่อพูดถึงประเด็นของ HDR อาจกล่าวได้ว่าผลรวมของคอนทราสต์ที่ได้รับทั้งหมดนั้นเป็นผลมาจากระดับสีดำที่สมบูรณ์แบบของ OLED TV เมื่อเริ่มต้นจากระดับความดำอันสมบูรณ์แบบการรับรู้ถึงความคมชัดสำหรับการโปรแกรมภาพในแบบ HDR ในส่วนพื้นที่ที่ต้องการความสว่างจะถูกป้อนแสงที่น้อยกว่าจอทั่วไป

และผลสุดท้ายสำหรับผู้รับชม ก็จะได้ผลลัพท์ที่คล้ายกับ QLED TV ที่ให้ความสว่างสูง – อย่างน้อยก็ในห้องมืด สำหรับในห้องที่มีแสงโดยรอบความสว่างของ QLED TV ดูจะเป็นผลดีมีประโยชน์มากสำหรับการแสดงผลภาพในแบบ HDR

สินค้ารุ่นเรือธงของซัมซุง อย่าง Q9 และ Q8 ได้เพิ่มโซนหลอดไฟทางด้านหลังจอไว้เต็มพื้นที่ การเพิ่มดังกล่าวถือเป็นความได้เปรียบของบริษัทที่จะทำให้ภาพมีความสว่างได้สูงสุด อีกทั้งยังได้เคลือบป้องกันแสงสะท้อนแบบใหม่ พร้อมกับการปรับปรุงแผงจอภาพให้ดียิ่งขึ้น เป็นการลดรัศมีหรือการกระจายแสงอันส่งผลต่อรับชมทีวี ความสว่างที่ได้จาก LED แบบนี้ดูเหมือนจะไม่มีข้อเสีย และมันทำให้เทคโนโลยี QLED TV ดูน่าสนใจมากยิ่งขึ้น

เปรียบเทียบ COLOR SPACE (ขอบเขตการรองรับสีสัน)
OLED เคยเป็นผู้กำหนดมาตรฐานของคุณสมบัติในส่วนนี้ แต่ QLED ก็เข้ามาท้าทายด้วยความสามารถในการเพิ่มเที่ยงตรงของแสงไฟแบคไลต์ ซึ่งทำให้ QLED TV สามารถถ่ายทอดทั้งความแม่นยำของสีสัน, ความสว่างของสีสัน รวมถึงความเข้มข้นของสีสัน

อีกทั้งทางผู้ผลิต QLED ยังรับรองว่าความอิ่มตัวของสีสามารถแสดงออกมาได้ดีแม้จะปรับระดับความสว่างไว้สูงสุด ซัมซุงได้เพิ่มปริมาณสีให้มากขึ้นสำหรับ QLED รุ่นใหม่ในปี 2018 ซึ่งจะช่วยเพิ่มความอิ่มตัวของสีในระดับความสว่างที่สูงขึ้น

เปรียบเทียบ RESPONSE TIME (เวลาในการตอบสนอง)
เวลาในการตอบสนองหมายถึงเวลาที่แต่ละไดโอดเปลี่ยนจาก “เปิด” เป็น “ปิด” เมื่อเวลาในการตอบสนองเร็วขึ้นจะทำให้ภาพเคลื่อนไหวเกิดอาการเบลอน้อยลงและขอบภาพสี่เหลี่ยม ๆ ก็จะลดลงด้วย

หนึ่งพิกเซลของ OLED เกิดจากการทำงานของไดโอดขนาดเล็กหนึ่งตัว ให้เวลาการตอบสนองทำได้ดีกว่า QLED อย่างเทียบกับไม่ได้ ในทางตรงกันข้ามไดโอดในทีวี QLED ไม่เพียงแต่ทำงานช้าเท่านั้น แต่ยังอยู่ด้านหลังแผงจอภาพ LCD และส่องสว่างให้กับกลุ่มพิกเซลในหลากหลายกลุ่มแบบไม่เจาะจง จึงทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระหว่างสถานะ “ปิด” “เปิด” ช้าลงไปอีก

ในปัจจุบัน OLED มีเวลาในการตอบสนองที่รวดเร็วที่สุดสำหรับเทคโนโลยีของทีวีที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน จึงชัดเจนว่าผู้ที่ได้เปรียบในเรื่องนี้คือใคร

ทาง Samsung ได้แจ้งไว้ว่าทีวี QLED รุ่นใหม่ในปี 2018 จะรองรับอัตราการรีเฟรชที่แตกต่างกัน เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพสำหรับผู้เล่นเกมแบบเล่นหลาย ๆ คน แต่ถึงอย่างไรยังต้องรอการพิสูจน์จากของจริงอีกที

เปรียบเทียบ VIEWING ANGLES (มุมมองภาพ)
OLED TV จะได้เปรียบในเรื่องนี้ หน้าจอของ QLED TV ให้มุมมองที่ดีที่สุดคือการมองตรง ๆ และคุณภาพของภาพจะลดลงทั้งสีและความคมชัดถ้ามองเฉียงจากทางด้านข้างหรือบนล่าง แม้ว่าผลที่ได้จะแตกต่างกันไปในแต่ละรุ่น แต่ก็สังเกตเห็นได้ง่าย

ที่ผ่านมาทางแอลจีจึงผลิตจอ LCD ชนิดหนึ่งที่รู้จักกันในชื่อ IPS ขึ้นมาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพมุมกระจายแสงที่ดีกว่าจอ LCD แบบ VA ทั่วไป แต่ก็ยังไม่สามารถแข่งขันกับเทคโนโลยี OLED ได้

ในทำนองเดียวกัน QLED TV รุ่นสูงสุดของ Samsung ได้มีการออกแบบแผงควบคุมซึ่งปรับปรุงขึ้นใหม่และทำการเคลือบป้องกันแสงสะท้อนที่ต่างออกไป ทำให้เรื่องของมุมมองภาพไม่ใช่ประเด็นความแตกต่างที่สำคัญเหมือนกับที่ผ่านมา

เปรียบเทียบ SIZE (ขนาด)
OLED ได้ถูกพัฒนามานาน เมื่อครั้งเริ่มต้นเทคโนโลยีหน้าจอ OLED ที่ถูกทำออกมาใหญ่สุดอยู่ที่ 55 นิ้ว ปัจจุบัน OLED ที่ขายอยู่มีขนาดถึง 88 นิ้ว ในทางกลับกันขนาดของจอ LCD ไม่ถูกจำกัดด้วยเรื่องของขนาด QLED จึงสามารถใหญ่สุดได้ถึง 100 นิ้วหรือมากกว่านั้น

เปรียบเทียบ SCREEN BURN-IN (จอภาพเป็นรอยค้างบนหน้าจอ)
เรื่องนี้เห็นกันมาตั้งแต่เมื่อตอนที่เรายังใช้ทีวีตู้แบบ CRT เมื่อมีการแสดงผลภาพนิ่ง ๆ เป็นเวลานาน จะทำให้ภาพดังกล่าวดูเหมือนโดน “เผา” ติดลงบนหน้าจอ สิ่งที่เกิดขึ้นจริงคือสารเรืองแสงที่ปกคลุมด้านหลังของหน้าจอทีวีเกิดการเรืองแสงเป็นเวลานาน ทำให้สารเรืองแสงเกิดการเสื่อมและสร้างเงาภาพเหมือนโดนเผาตามภาพที่ปรากฏ

ปัญหาเดียวกันนี้เกิดขึ้นกับทีวี OLED เนื่องจากสารประกอบที่ทำให้เกิดแสงสว่างจะลดปริมาณลงเมื่อเวลาผ่านไป ถ้าปล่อยภาพค้างให้แต่ละพิกเซลเป็นเวลานานและมีความเข้มพอ ก็จะทำให้เกิดการสลัวก่อนเวลาอันควร และจะเกิดการดำมืดก่อนพิกเซลส่วนที่เหลือ

อย่างไรก็ตามในความเป็นจริงปัญหานี้ไม่น่าจะเกิดให้เห็นหากรับชมตามปกติ ต้องเจตนาทำให้เกิดถึงจะเห็นผลดังกล่าว แม้กระทั่ง “โลโก้ช่องทีวี” ที่ปรากฏค้าง บางช่องก็จะทำให้หายไปเป็นระยะหรือทำให้ชัดเจนขึ้นกว่าปกติ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเรื่องการเผาดังกล่าว อาจจะต้องเปิดดูรายการนั้น ๆ ทุกวัน (เป็นเวลาหลายวันติดต่อกัน) ด้วยระดับความสว่างสูงสุดเท่าที่จะรับชมได้ถึงจะปรากฏผลให้เห็น

ที่พูดมามีประเด็นที่น่าสนใจและเป็นที่น่าขบคิด โดยเฉพาะนักเล่นเกมที่ในเกมมีฉากภาพนิ่ง ๆ ปรากฏเป็นเวลานาน ๆ หรือผู้ที่เล่นเกมติดต่อกันมากกว่า 10 ชั่วโมงต่อสัปดาห์เป็นเวลาหลายสัปดาห์ติดต่อกัน อาจทำให้เกิด “การไหม้” บนจอ OLED TV ได้

อันที่จริงอยากจะสนับสนุนให้มีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม (สลับลุกขึ้นออกไปข้างนอกบ้างพร้อมกันนั้นก็ทำการปิดทีวี) เช่นนี้มากกว่า ในทางเทคนิค QLED TV ก็เกิดปัญหานี้ได้เช่นกัน แต่โอกาสเกิดจะน้อยกว่า

เปรียบเทียบ POWER CONSUMPTION (การใช้พลังงาน)
แผง OLED บางมากและไม่จำเป็นต้องมีแสงมาจากทางด้านหลัง ฉะนั้น ทีวี OLED TV จึงมีน้ำหนักเบากว่าและบางกว่าทีวีแบบ QLED อีกทั้ง OLED ยังมีประสิทธิภาพสูงกว่าและใช้พลังงานน้อยกว่าด้วย

เปรียบเทียบ PRICE (ราคา)
ครั้งหนึ่ง QLED TV เคยได้เปรียบตรงจุดนี้ แต่หลังจาก OLED TV หลายยี่ห้อมีการลดราคาลงมาพอสมควรจากเมื่อก่อน และเนื่องจากเรากำลังพูดถึงทีวีระดับพรีเมี่ยมทั้งหมดที่มี QLED TV รุ่นที่มีคุณสมบัติดังกล่าวก็ไม่ได้ราคาถูกมากนัก สรุปแล้วหากเป็นทีวีระดับสูงเรื่องราคาไม่ใช่ประเด็นความแตกต่างที่สำคัญ

เปรียบเทียบในภาพรวม
เมื่อเทียบกันในแง่ของคุณภาพของภาพระหว่าง OLED กับ QLED จอ OLED จะมาพร้อมกับเทคโนโลยีที่รุดหน้ากว่าแสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าที่สำคัญของ LED TV ในยุคเก่า โดยตัว OLED มีน้ำหนักเบาและบางมาก ใช้พลังงานน้อย มีมุมมองที่ดีที่สุดได้กว้างกว่า และแม้ว่าจะมีราคาแพงกว่าเล็กน้อย ขณะที่ราคาได้ลดลงเป็นอย่างมาก

QLED มีข้อดีของตัวเองในเรื่องความสามารถในการส่องสว่าง และในปัจจุบันได้มีการปรับปรุงระดับสีดำและการรับชมนอกมุมมองให้ดีขึ้น สำหรับหลาย ๆ คน ทีวี QLED ดูจะสมเหตุสมผลมากกว่าเนื่องจาก QLED สามารถดูในช่วงเวลากลางวันได้ดีกว่าให้ภาพที่คมชัดกว่า แต่เมื่อดูในห้องที่แสงสว่างน้อยกว่า OLED เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ

ธวัชชัย อุไรรัตน์

ชื่นชอบดนตรีและเครื่องเสียงตั้งแต่ ปวช. ประกอบเครื่องเสียงใช้เองตั้งแต่เริ่มแรก ผ่านประสบการณ์ทางด้านเสียง/โฮมเธียเตอร์มาแล้วหลายรูปแบบ ทั้งนักวิจารณ์เครื่องเสียง/โฮมเธียเตอร์ เป็นทีมงานเครื่องเสียงให้เช่า (ติดตั้งโครงสร้าง วางลำโพง เซ็ตระบบเสียงทั้ง PA และ Monitor มิกซ์เสียง) ผ่านงานติดตั้งระบบมินิเธียเตอร์ ทั้งระบบภาพ 3D แบบ Passive (2 Projector Stack) และระบบเสียง 7.1 แชนเนล ผ่านการอบรม The Sound Master มีผลงานเขียนตีพิมพ์อย่างต่อเนื่อง ติดตามเทคโนโลยีอยู่เสมอ