LG Display คุย แผง OLED ของบริษัทมีโอกาสเกิดอาการเบิร์นอินน้อยกว่า QD-OLED
แหล่งข่าวจากต่างประเทศอย่าง What Hi-Fi ? ในสหราชอาณาจักรเผยข้อมูลที่มาจากการสนทนาทางวิดีโอกับ LG Electronics เมื่อเร็ว ๆ นี้ โดยหัวข้อหลักคือตัวเลขความสว่างสูงสุดของ G3 OLED TV รุ่นล่าสุด ในระหว่างการสนทนามีการนำเสนอที่น่าประหลาดใจจากซูมิน ชาง ตัวแทนจาก LG Display ซึ่งเป็นแผนกการผลิตแผงหน้าจอในเครือของบริษัท LG
LG Electronics ซึ่งเป็นผู้ผลิตทีวีเพื่อจำหน่ายในตลาดสินค้าเพื่อผู้บริโภค) และ LG Display นั้นเป็นหน่วยงานที่แตกต่างกัน และบริษัทแรกมักจะหลีกเลี่ยงการพูดคุยเกี่ยวกับผลงานของตนสำหรับบริษัทหลังมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ดังนั้นโอกาสเช่นนี้จึงมักเกิดขึ้นไม่บ่อยนัก
หัวข้อในการนำเสนอของซูมิน ชาง ก็เป็นการเปิดหูเปิดตาเช่นกัน โดยมันเกี่ยวข้องกับเรื่องของอาการ “เงาค้างบนหน้าจอ” หรือที่มักเรียกกันว่าเบิร์นอิน) ซึ่งทาง LG Display คุยว่ามันเป็นแผง OLED ที่มีโอกาสเกิดอาการกล่าวน้อยกว่าอย่างมากเมื่อเทียบกับแผงหน้าจอแบบ QD-OLED ที่ผลิตโดย Samsung Display
ซูมิน ชาง อ้างถึงการทดสอบความทนทานแบบเร่งด่วนของเว็บไซต์ Rtings โดยการเปิดภาพให้ทีวีหลายรุ่นได้แสดงภาพวิดีโอสดของ CNN โดยเฉลี่ย 19 ชั่วโมงต่อวัน ดูเหมือนว่าการทดสอบนี้จะส่งผลให้เกิดภาพค้างใน QD-OLED TV ทั้ง Samsung S95B และ Sony A95K หลังจากทดสอบไปเป็นเวลาเพียงสองเดือน
ในทางกลับกันทีวีรุ่น C2 และ G2 ของ LG ซึ่งใช้แผงจอแสดงผล “OLED EX” เจนเนอเรชั่นที่สองของ LG Display ดูเหมือนจะไม่มีอาการภาพค้าง
ซูมิน ชาง กล่าวว่านี่เป็นผลจากการใช้อนุภาคที่มีความเสถียรสูงที่เรียกว่า ดิวเทอเรียม ในแผงจอแสดงผล รวมถึงพิกเซลย่อยสีขาวด้วย ซึ่งเห็นได้ชัดว่ามีความทนทานมากกว่าอนุภาคพิกเซลที่มีสีสัน
แน่นอนว่าใคร ๆ ก็สามารถตั้งคำถามถึงความถูกต้องของการทดสอบดังกล่าวของ Rtings ได้ เนื่องจากเงื่อนไขของการทดสอบนั้นมันไม่เหมือนกับการใช้งานทีวี ‘ตามปกติ’ และ Rtings ก็ยอมรับเกี่ยวกับข้อจำกัดในการทดสอบนี้ ทว่าผลลัพธ์ทั้งหมดก็น่าสนใจเหมือนกัน
ยังคงมีปัญหาใหญ่อย่างหนึ่งในการเปรียบเทียบนี้ นั่นคือการเปรียบเทียบแผง LG OLED ซึ่งพัฒนามาเป็นรุ่นที่สองแล้ว กับแผง QD-OLED ที่เป็นรุ่นแรก บ้างก็ว่านั่นสมเหตุสมผลแล้ว เนื่องจากเป็นรุ่นล่าสุดของแต่ละเทคโนโลยีที่ทำออกมาวางจำหน่ายในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน
แต่เราทราบดีว่าแผง QD-OLED เจนเนอเรชั่นที่สองจะวางจำหน่ายในปีนี้โดยเป็นส่วนหนึ่งของรุ่น S95C จาก Samsung และอาจมีรุ่นอื่น ๆ อีกหลายรุ่นที่ยังไม่มีการประกาศเปิดตัว
แหล่งข่าวได้ส่งคำถามเกี่ยวกับการเบิร์นอินไปที่นาธาน เชฟฟิลด์ หัวหน้าฝ่ายทีวีและเครื่องเสียงของ Samsung Europe และข้อมูลที่ได้คือ “แผงจอแสดงผลที่เรามีในปีนี้ – เราได้เพิ่มประสิทธิภาพ”
“มันมีระดับความสว่างเพิ่มขึ้น [แต่] เราไม่จำเป็นต้องเปิดใช้ความสว่างอย่างเต็มกำลังตลอดเวลา นอกจากนั้นยังมีการใช้พลังงานไฟอย่างเหมาะสม ผู้ใช้จึงได้รับประสบการณ์คุณภาพของภาพที่ดีที่สุดโดยไม่ต้องเลือกใช้ทีวีขนาดใหญ่ที่สุด ผมคิดว่านั่นอาจช่วยลดความสว่างลงบ้าง และเป็นการลดความเสี่ยงในส่วนที่คุณได้พาดพิงถึง”
กล่าวอีกนัยหนึ่ง QD-OLED รุ่นใหม่จะสว่างขึ้น และมีประสิทธิภาพมากขึ้น ดังนั้นวัสดุ OLED ที่มีความละเอียดอ่อนจะไม่ถูกเค้นหรือถูกใช้งานอย่างหนักหน่วง
ดังที่เราทราบ กุญแจสำคัญของอายุการใช้งานและความทนทานของ OLED คือ ประสิทธิภาพ ดังนั้นการปรับปรุงใด ๆ ในส่วนนี้อาจมีผลกระทบเชิงบวกอย่างมาก สิ่งที่ยังไม่ชัดเจนนักคือ QD-OLED รุ่นที่สองนั้นบรรลุประสิทธิภาพพิเศษที่เพิ่มขึ้นนี้ได้อย่างไร
แต่ Samsung Display อ้างถึงสิ่งที่เรียกว่าวัสดุ “OLED HyperEfficient EL” ในข้อมูลการตลาดบางส่วนเกี่ยวกับแผง QD-OLED รุ่นใหม่ รวมทั้งการกล่าวถึง “Heavy H+ OLED” ในงาน CES 2023 ซึ่ง “Heavy H” นั้นก็คือไฮโดรเจนหนัก ซึ่งเป็นอีกชื่อหนึ่งของดิวเทอเรียม
สำหรับการสรุปอย่างย่อ LG Display ที่อ้างว่าเทคโนโลยี WOLED นั้นอ่อนไหวต่อการเบิร์นอินน้อยกว่า QD-OLED เป็นอะไรที่น่าสนใจ แต่การเปรียบเทียบนี้อาจใช้ไม่ได้กับทีวีรุ่นใหม่ที่เปิดตัวในปีนี้
ในปี 2023 เป็นสมรภูมิทีวี OLED รุ่นใหม่ที่มีความสว่างมากกว่าที่เคยทำออกมา ซึ่งในภาพรวมแล้วผู้ที่ได้ประโยชน์ก็คือผู้บริโภคอย่างเรานั่นเอง
ที่มา: whathifi