fbpx
KNOWLEDGE

มาทำความรู้จักฟอร์แมตไฟล์เสียงแต่ละประเภทกันเถอะ

พูดถึงเรื่องไฟล์เพลงและคุณภาพของไฟล์เพลง เรื่องนี้น่าจะเป็นหนึ่งในหัวใจสำคัญของการเล่นเพลงจากไฟล์คอมพิวเตอร์เลยล่ะครับ ไม่ว่าคุณจะใช้ DAC อะไร เล่นจากคอมพิวเตอร์แบบไหน สุดท้ายแล้วคุณภาพของตัวไฟล์เพลงเองจะมีผลกับคุณภาพเสียงอย่างมาก ดังนั้นแล้วเรื่องของไฟล์เสียงนี่ไม่ใช่เป็นเรื่องเล่น ๆ ที่จะมองข้ามกันได้เลยครับ

ประเภทไฟล์เพลงเราสามารถแบ่งประเภทได้คร่าว ๆ เป็น 3 ประเภทหลัก ได้แก่ ไฟล์เพลงที่ไม่มีการบีบอัดข้อมูล (Uncompressed audio format), ไฟล์เพลงที่มีการบีบอัดข้อมูลแบบมีการสูญเสียข้อมูล (Lossy compression audio format) และ ไฟล์เพลงที่มีการบีบอัดข้อมูลแบบไม่มีการสูญเสียข้อมูล (Lossless compression audio format)

ไฟล์เพลงที่ไม่มีการบีบอัดข้อมูล (Uncompressed audio format)
ไฟล์เพลงประเภทนี้คือการเก็บบันทึกข้อมูลเสียงในรูปแบบที่ไม่มีการลดทอน ตัดทอน หรือทำให้จำนวนบิตข้อมูลลดลงไปเลย เรียกว่าข้อมูลมีอยู่เท่าไรก็เก็บมันเอาไว้ทั้งหมด ไฟล์ข้อมูลจึงมีขนาดใหญ่แต่มีข้อดีในแง่ของคุณภาพที่สามารถการันตีได้ว่าไม่มีส่วนใดส่วนหนึ่งตกหล่นไปแน่นอน

ไฟล์เพลงหรือไฟล์เสียงประเภทนี้เป็นที่รู้จักกันแพร่หลายในนามสกุลไฟล์ .wav หรือ .aiff ถ้าเปรียบเทียบกับไฟล์ถ่ายดิจิตอลก็เทียบได้กับฟอร์แมตไฟล์ประเภท RAW

ไฟล์เพลงที่มีการบีบอัดข้อมูลแบบมีการสูญเสียข้อมูล (Lossy compression audio format)
สืบเนื่องจากข้อด้อยในแง่ของขนาดไฟล์เพลงในฟอร์แมตที่ไม่มีการบีบอัดข้อมูล ในยุคก่อนหน้านี้ที่อุปกรณ์เก็บไฟล์ข้อมูลในคอมพิวเตอร์ยังถูกจำกัดไว้ด้วยขนาดความจุและราคาต้นทุน

จึงมีคนพยายามคิดค้นวิธีทำให้ไฟล์ข้อมูลนั้นมีขนาดเล็กลง โดยยอมให้มีการสูญเสียข้อมูลบางส่วนที่พิจารณาแล้วคิดว่าไม่มีผลหรือมีผลน้อยมากกับการฟัง อย่างเช่น รายละเอียดเสียงเบา ๆ ความถี่เสียงทุ้มลึกมากหรือเสียงแหลมสูงมาก หรือในส่วนที่เป็นฮาร์มอนิกของเสียง

ทำให้ไฟล์ที่บีบอัดแล้วนั้นมีขนาดไฟล์ลดลงอย่างมาก ซึ่งขนาดไฟล์ที่ลดลงอาจจะอยู่ที่ประมาณ 10-20 เท่าได้เลยทีเดียว ไฟล์ฟอร์แมตนี้เป็นที่รู้จักกันแพร่หลายในนามสกุล .mp3, .wma (lossy) หรือ m4a (lossy)

นอกจากขนาดไฟล์แล้วแน่นอนว่าสิ่งที่ลดลงตามไปด้วยก็ย่อมหนีไม่พ้นเรื่องของคุณภาพเสียง อย่างไรก็ดีไฟล์ฟอร์แมตบีบอัดนี้ยังดีพอที่จะใช้ในงานที่ไม่ได้เน้นเรื่องคุณภาพเสียงมากนัก อย่างเช่นงานที่ต้องใช้คลิปเสียง หรือการสตรีมผ่านระบบออนไลน์ เช่น อินเตอร์เน็ตเรดิโอ เพลงแบบสตรีมมิ่งเซอร์วิส หรือตัวอย่างเพลงให้ลองฟังในเว็บขายเพลงแบบดาวน์โหลดออนไลน์

ในยุคนี้แม้แต่แผ่นเสียงก็สามารถเอามาริบหรือแปลงสัญญาณเป็นดิจิทัลได้หลากหลายฟอร์แมต

ไฟล์เพลงที่มีการบีบอัดข้อมูลแบบไม่มีการสูญเสียข้อมูล (Lossless compression audio format)
เนื่องจากไฟล์เสียงแบบบีบอัดข้อมูลปกตินั้นเน้นหนักไปที่เรื่องของขนาดไฟล์มากกว่าคุณภาพเสียง จึงมีผู้พยายามคิดค้นวิธีการบีบอัดข้อมูลอีกรูปแบบหนึ่งที่อ้างว่าไม่มีการสูญเสียของข้อมูล

หมายความว่าในขั้นตอนการบีบอัดจะไม่มีการตัดทอนข้อมูลใด ๆ ออกไปเลย แต่จะอาศัยการเทียบบิตข้อมูลที่เหมือนกันแล้วจัดการแพ็คมันใหม่ให้กะทัดรัดมากขึ้นทำให้ขนาดไฟล์โดยรวมมีขนาดเล็กลงได้ สามารถเล็กลงได้ตั้งแต่ 2-4 เท่าโดยประมาณขึ้นอยู่กับรายละเอียดและความซับซ้อนของเนื้อหาในไฟล์เพลงนั้น ๆ วิธีนี้เทียบได้กับการบีบอัดข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่หลายคนรู้จักกันดีอย่างไฟล์ .zip หรือ .rar

ไฟล์เพลงบีบอัดแบบไม่มีการสูญเสียนี้เป็นที่รู้จักแพร่หลายที่สุดในนามสกุล .flac ซึ่งย่อมาจาก free lossless audio codec นอกจากนั้นแล้วยังมีผู้คิดค้นอัลกอรึธึมแบบเดียวกันนี้ออกมาด้วยครับ แต่อาจจะไม่ได้รับความนิยมมากเท่าไฟล์ flac อย่างเช่น Apple Lossless (.m4a) ของบริษัท Apple ผู้ผลิตคอมพิวเตอร์แมคอินทอชและโทรศัพท์มือถือที่มีคนใช้มากที่สุดในโลกอย่างไอโฟน หรือไฟล์ .ape ของค่าย Monkey Audio เป็นต้น

ในแง่ของคนเล่นเครื่องเสียงและนักฟังเพลงที่เน้นคุณภาพของเสียง ไฟล์ lossless นั้นถือว่ามีคุณภาพดีอยู่ในระดับที่ยอมรับได้ ในชุดเครื่องเสียงไฮไฟทั่วไปเราอาจจะได้ยินความแตกต่างระหว่างไฟล์ .wav และ .flac ได้น้อยมาก

แต่ในบางซิสเตมก็พบว่ามันมีความแตกต่างกันอยู่โดยเฉพาะเครื่องเสียงระดับกลางขึ้นไปจนถึงไฮเอนด์ชุดใหญ่ เป็นสิ่งที่สามารถรับรู้และได้ยินความแตกต่างได้จริง ส่วนจะแตกต่างกันมากหรือน้อยเพียงใดนั้นก็ขึ้นอยู่กับการตีความ ตลอดจนทักษะการฟังเฉพาะบุคคล

แต่ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม ถ้าเราให้น้ำหนักเรื่องคุณภาพเสียงมาก่อนก็ต้องถือว่าไฟล์ Uncompressed นั้นเข้าวินนำมา โดยมีไฟล์ Lossless ตามมาแบบหายใจรดต้นคอ ขณะเดียวกันในปัจจุบันก็มีไฟล์เสียงรายละเอียดสูงให้เลือกฟัง ส่วนไฟล์ Lossy จำพวก .mp3 ทั้งหลายนั้น ให้ถือว่าต่ำกว่ามาตรฐานการยอมรับสำหรับระบบเสียงไฮไฟครับ ถ้าหากไม่จำเป็นก็ขอให้ Forget it!

มนตรี คงมหาพฤกษ์

ผู้ก่อตั้งสื่อออนไลน์ AV Tech Guide อดีตบรรณาธิการบริหารนิตยสารและออนไลน์ GM2000 Magazine จบการศึกษาจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สนใจเครื่องเสียงทั้งระบบอะนาล็อกและดิจิทัล ใช้งานสมาร์ทโฟนทั้ง iOS และ Android ใช้คอมพิวเตอร์ทั้ง macOS และ Windows หลงใหลเทคโนโลยีเป็นชีวิตจิตใจ ตอนนี้กำลังเห่อระบบบันทึกเสียงและไมโครโฟนแบบมืออาชีพ