How to… เปิดใช้ Hotspot 5 GHz ในสมาร์ทโฟน
เชื่อว่าหลาย ๆ คนที่ใช้งานสมาร์ทโฟน คงเคยมีโอกาสได้ใช้สมาร์ทโฟนของตัวเองในโหมด hotspot เพื่อแชร์สัญญาณ Wi-Fi ออกไปให้อุปกรณ์ตัวอื่นได้ใช้งานสัญญาณอินเทอร์เน็ตร่วมกับเรา
ใครที่เคยไปเที่ยวต่างประเทศอาจจะเคยใช้มือถือของตัวเองเป็น hotspot เพื่อแชร์สัญญาณเน็ทให้เพื่อนร่วมทริป บางครั้งเราก็ตั้งใจพกมือถือไป 2 เครื่องแล้วใช้เครื่องหนึ่งเป็น hotspot ปล่อยสัญญาณ Wi-Fi ให้เครื่องหลักที่ใช้งานอยู่
จะด้วยเหตุผลเรื่องของการประหยัดแบตเตอรี่ของเครื่องหลัก หรือว่ากลัวแอปฯ Line ในเครื่องหลักจะรวนก็แล้วแต่ เหตุผลข้อหลังนี้ผมเพิ่งใช้กับตัวเองไปหมาด ๆ ตอนไปทริปกับเอปสันที่ประเทศกัมพูชาเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
หรือบางครั้งตอนอยู่บ้าน เราก็อาจต้องเปิดใช้งาน hotspot เพราะสัญญาณ Wi-Fi ที่บ้านเกิดล่มหรือมีปัญหาใช้งานไม่ได้ แต่ว่าเรามีงานในคอมพิวเตอร์ที่จำเป็นต้องส่งตอนนั้นเลย
บางคนอาจจะไม่เคยใช้งาน hotspot ในมือถือของตัวเองเลย.. แต่อ่านมาถึงตรงนี้คงพอนึกภาพออกแล้วใช่ไหมครับว่ามันมีประโยชน์ใช้งานอย่างไร
แต่ความน่าสนใจไม่ได้มีเพียงเท่านั้นน่ะสิครับ เพราะผมพบว่าในปัจจุบันมีสมาร์ทโฟนบางรุ่นที่สามารถปล่อยสัญญาณ Wi-Fi ที่ความถี่ 5 GHz ในโหมด hotspot ได้ ซึ่งมันทำให้ hotspot ในสมาร์ทโฟนของเรามีมูลค่าใช้งานเพิ่มขึ้นไปอีก
Hotspot 5 GHz ดีอย่างไร?
ที่ผ่านมาสัญญาณ hotspot จากสมาร์ทโฟนจะใช้ช่วงคลื่นความถี่ 2.4 GHz เหมือนระบบ Wi-Fi ทั่ว ๆ ไป ทราบหรือไม่ครับว่าคลื่นสัญญาณในช่วงความถี่นี้เป็นที่นิยมใช้แพร่หลายมากที่สุดในอุปกรณ์ไร้สาย ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์บ้านแบบไร้สาย, สัญญาณบลูทูธในอุปกรณ์ต่าง ๆ, สัญญาณนิรภัยของรถยนต์, เตาไมโครเวฟ, ไมโครโฟนไร้สาย ฯ
ดังนั้นจึงไม่แปลกที่ความถี่ยอดนิยมนี้จึงอาจจะสร้างปัญหาการแทรกซ้อน หรือการรบกวนซึ่งกันและกันได้ง่าย ลำพังแค่สัญญาณ Wi-Fi ที่มีใช้งานอยู่ในบริเวณใกล้เคียง โดยเฉพาะในเมืองที่มีคนอยู่หนาแน่นก็ยิ่งมีโอกาสจะเกิดปัญหาการรบกวนซึ่งกันและกันได้ง่ายขึ้น
ดังนั้นการเชื่อมต่อสัญญาณ Wi-Fi จากอุปกรณ์ router ที่เป็น dual band / tri band หรือ hotspot ด้วยความถี่ 5 GHz จึงเป็นทางออกหนึ่งของการแก้ปัญหาต่าง ๆ ดังที่กล่าวไว้ข้างต้น
ลองกับ Huawei Mate 9
ผมไม่แน่ใจว่าปัจจุบันมีสมาร์ทโฟนรุ่นไหนบ้างที่มีความสามารถในการปล่อยสัญญาณ hotspot ที่ความถี่ 5 GHz แต่ได้ทราบมาในเบื้องต้นว่าสมาร์ทโฟนที่ใช้ชิป Snapdragon 835 หรือใหม่กว่านั้นสามารถทำได้
ที่ได้ลองแล้วก็คือ HTC U11 แต่ยังไม่ได้ลองกับรุ่นอื่น ๆ ที่ใช้ Snapdragon 835 นะครับ นอกจาก HTC U11 สมาร์ทโฟนที่ผมได้ลองแล้วแน่ ๆ อีกรุ่นก็คือ Huawei Mate 9 ซึ่งใช้ชิป HiSilicon Kirin 960 เลยทำให้เข้าใจไปอีกว่าชิป Kirin ที่ใหม่กว่านี้ก็น่าจะทำได้ด้วยเช่นกัน (แต่ยังไม่ได้ลองใช้งานดูทุกรุ่นนะครับ)
วิธีการใช้งาน hotspot 5 GHz ในสมาร์ทโฟน Huawei Mate 9 ที่อัปเป็น Android Oreo แล้ว จะเป็นดังต่อไปนี้ (เข้าใจรุ่นรุ่นคือื่นที่ทำได้ ก็น่าจะมีขั้นตอนวิธีการที่ใกล้เคียงกันครับ)
เบื้องต้นให้เลือก Auto
เมื่อตั้งค่าเรียบร้อยแล้วให้กด save แล้วออกจากเมนูตั้งค่า ตัว Huawei Mate 9 ก็จะอยู่ในโหมดปล่อยสัญญาณ hotspot ด้วยความถี่ 5 GHz แล้วครับ
เชื่อมต่อจริงกับ Sony Xperia XA2 Ultra
การลองเชื่อมกับกับ hotspot ที่ปล่อยจาก Huawei Mate9 ผมใช้สมาร์ทโฟน Sony Xperia XA2 Ultra ซึ่งสามารถเชื่อมต่อสัญญาณ Wi-Fi 5 GHz ได้ ซึ่งวิธีการก็เหมือนการเชื่อมต่อสัญญาณ Wi-Fi ทั่วไปครับ
มองหา SSID hotspot ของเรา ในที่นี้คือ MMM-Mate9
หลังจากนั้นผมได้ลองใช้แอปฯ Wi-Fi Network Analyzer Pro ที่ติดตั้งไว้ใน XA2 Ultra ตรวจสอบช่องสัญญาณที่เชื่อมต่อ ไม่พบความคลื่นสัญญาณ Wi-Fi อื่นมาซ้อนทับ นี่แหละครับอีกหนึ่งข้อดี Wi-Fi 5 GHz ที่มีช่องสัญญาณเยอะกว่า Wi-Fi 2.4 GHz หลายเท่า
ลองตรวจสอบดูบ้างว่าในบริเวณนี้มีคลื่น Wi-Fi 2.4 GHz อะไรอยู่บ้าง โอ้โฮ เพียบเลยครับ มีทั้งซ้อนทับกัน ขี่กัน เหลื่อมกันเต็มไปหมด อย่างนี้ประสิทธิภาพการเชื่อมต่อและรับ-ส่งข้อมูลลดลงแน่นอนครับ
ข้อพึงจำ
จากทั้งหมดที่ผมเขียนมาเราได้เห็นข้อดีของการปล่อย hotspot ด้วยสัญญาณ 5 GHz กันไปแล้ว ซึ่งสมาร์ทโฟนเครื่องไหนทำได้ ผมแนะนำให้ทำเลยครับ ยิ่งถ้าเราไปอยู่ในห้างสรรพสินค้าหรืออาคารสำนักงานที่มีการใช้ Wi-Fi ความถี่ 2.4 GHz จำนวนเยอะ ๆ แล้วล่ะก็ จะยิ่งเห็นความแตกต่างครับ
อย่างไรก็ดี ปัจจุบันยังมีอุปกรณ์และสมาร์ทโฟนอีกจำนวนไม่น้อยที่ไม่สามารถเชื่อมต่อ Wi-Fi 5 GHz ได้โดยเฉพาะในสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตราคาประหยัดที่ยังรองรับแค่ Wi-Fi ความถี่ 2.4 GHz
หากเราตั้งค่าให้ปล่อย hotspot 5 GHz ไปแล้วเผลอหลงลืมไป เมื่อเวลาผ่านไปนานมาเปิดใช้ hotspot อีกครั้ง แล้วเอาสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตที่ไม่รองรับ Wi-Fi 5 GHz มาเชื่อมต่อ ก็อาจจะเกิดอาการหงุดหงิดหัวใจได้ เพราะเชื่อมต่อยังง้าย..ยังไงมันก็ไม่สำเร็จสักทีทั้งที่ขีดสัญญาณ Wi-Fi ขึ้นเต็ม
เรื่องนี้ผมเองเคยประสบพบเจอกับตัวเองมาแล้วนะครับ เหตุการณ์ครั้งนั้นผ่านไปนานเลยครับกว่าจะรู้ตัวว่าเผลอปล่อยไก่ไปหมดเล้าเสียแล้ว.. ปัดโธ่ !