fbpx
HOW TO

“Dolby Atmos ในหูฟัง” คุณลองหรือยังกับ Windows 10

บทความนี้ผมเขียนขึ้นจากประสบการณ์ตรงเพื่อแบ่งปันความรู้ให้กับผู้ที่ชื่นชอบการดูหนังจากคอมพิวเตอร์โดยตรง โดยเฉพาะผู้ที่ใช้งานคอมพิวเตอร์ Windows 10 และสนใจระบบเสียง Dolby Atmos ที่เราสามารถฟังได้แบบส่วนตั๊วส่วนตัวจากหูฟัง !

สืบเนื่องจากการอัปเดทเวอร์ชั่นล่าสุดของ Windows 10 (Creators Update) เมื่อหลายเดือนก่อน ทำให้แพลทฟอร์ม Windows OS นั้นรองรับระบบเสียงรอบทิศทางแบบ 360 องศาอย่าง Dolby Atmos ด้วย รองรับทั้งในส่วนที่เป็นฮาร์ดแวร์ (Dolby Atmos hardware) เช่นหูฟังของบางยี่ห้อที่ระบุว่าเป็นหูฟังระบบ Dolby Atmos

นอกจากนั้นยังรองรับทั้งในส่วนของซอฟต์แวร์ (Virtual Dolby Atmos Sound) ซึ่งทำให้เราสามารถฟัง Dolby Atmos กับหูฟังใด ๆ ก็ได้ และเราจะมาแนะนำกันในบทความนี้นี่แหละครับ ตามผมมาเลย

“Dolby Atmos for Headphones” คืออะไร
เชื่อว่าทุกท่านที่ติดตาม AV Tech Guide มาตลอดคงทราบดีว่าระบบเสียงรอบทิศทางแบบ 360 องศาในทุกระนาบแบบ Dolby Atmos นั้นคืออะไร แต่บางท่านก็ยังติดที่ว่ายังไม่พร้อมอัปเกรดระบบเช่น ซื้อเอวีแอมป์หรือลำโพงที่รองรับ Dolby Atmos หรือยังไม่สะดวกที่จะติดตั้งลำโพงในกรณีที่เป็น 7.1 แชนเนลที่มีลำโพงอยู่เหนือศีรษะ

ก่อนจะตัดสินใจว่าสมควรลงทุนเพื่อเข้าถึง Dolby Atmos ได้หรือยัง มาลองฟังระบบเสียงนี้แบบง่าย ๆ ด้วยหูฟังกับคอมพิวเตอร์ผ่านระบบเสียง “Dolby Atmos for headphones” ดูก่อนก็น่าจะดีนะครับ

“Dolby Atmos for Headphones” ใน Windows 10 สามารถใช้งานได้เลยกับหูฟังทั่วไป โดยไม่จำเป็นต้องใช้หูฟังที่ระบุว่ารองรับระบบเสียง Dolby Atmos เนื่องจากมันเป็นประเภทหนึ่งของระบบ virtual surround ที่มีใช้งานอยู่ใน Windows เป็นรูปแบบหนึ่งของระบบประมวลผลสัญญาณดิจิทัลหรือ DSP (Digital Signal Processing) ที่รับสัญญาณเสียงรอบทิศทางมาจากคอมพิวเตอร์ก่อนจะทำการประมวลผลเพื่อส่งสัญญาณเสียงไปออกที่หูฟังให้เราสามารถรับรู้ทิศทางของเสียงได้มากกว่าเสียงสเตริโอแยกซ้าย/ขวา

การเปิดใช้งาน “Dolby Atmos for Headphones” ใน Windows 10
ก่อนอื่นเราต้องเข้าไปใน Windows Store เพื่อดาวน์โหลดแอปฯ ชื่อ Dolby Access แอปฯ นี้จะทำให้คอมพิวเตอร์ Windows 10 สามารถใช้งานระบบเสียง Dolby Atmos ได้ทั้งในกรณีที่เราใช้คอมพิวเตอร์ต่อกับชุดโฮมเธียเตอร์ หรือใช้กับหูฟัง (ในที่นี้จะเป็นการลองใช้งานกับหูฟังก่อนครับ)

ปัจจุบันการใช้งาน Dolby Atmos ใน Windows 10 นอกจากการรับชมจากแผ่นบลูเรย์โดยตรงแล้ว ยังรองรับเกมและวิดีโอออนไลน์สตรีมมิ่งเซอร์วิสจำนวนหนึ่งแล้วด้วยเช่นกัน ถ้าเป็นเกมก็อย่างเช่น Assasin’s Creed : Origins, Gear of War 4, Rise of the Tomb Raider, Super Lucky’s Tale หรือเกมอื่น ๆ ที่จะตามมา ถ้าเป็นวิดีโอออนไลน์สตรีมมิ่งเซอร์วิสก็อย่างเช่น Netflix, VUDU, Maxdome

เมื่อติดตั้งแอปฯ Dolby Access เรียบร้อยแล้วก็ให้เปิดใช้งานมันเพื่อเข้าสู่ส่วนของการตั้งค่า เลือกที่ “Dolby Atmos for headphones” อ่อ เกือบลืมบอกไปครับแอปฯ Dolby Access นี้ไม่ใช่ฟรีแวร์นะครับ ปกติเขาขายอยู่ 519 บาท แต่เราสามารถทดลองใช้งานได้ฟรีก่อน 30 วัน

การตั้งค่านั้นไม่มีอะไรซับซ้อนครับ ตัวเมนูจะนำเราไปสู่ส่วนของ “Configure PC settings” เมื่อคลิ้กแล้วมันจะเปิดหน้าต่างตั้งค่าเสียง (Speaker Properties) ใน control panel ของ Windows ขึ้นมา ดูที่แถบ “Spatial sound” แล้วเลือกไปที่ “Dolby Atmos for Headphones” จากนั้นคลิ้กเลือกที่ “Turn on 7.1 virtual surround sound”

ลองทดสอบฟังเสียง
ในแอปฯ Dolby Access จะมีตัวอย่างของเกมและคลิปวิดีโอสาธิตสั้น ๆ ให้เราทดลองฟังเสียงก่อนได้ การเปิด-ปิด “Dolby Atmos for Headphones” สามารถทำได้โดยง่ายด้วยการคลิ้กขวาที่ไอคอนรูปลำโพงที่อยู่ตรงมุมขวาล่างของ taskbar > Spatial sound แล้วเลือก Off เพื่อฟังเสียงสเตริโอตามปกติ หรือ “Dolby Atmos for Headphones”

สังเกตว่ายังมีอีกหนึ่งตัวเลือกนั่นคือ “Windows Sonic for Headphones” ซึ่งก็ทำหน้าที่คล้ายกับ “Dolby Atmos for Headphones” แต่เท่าที่ลองฟังเทียบดูการแยกมิติโอบล้อมนั้นยังเป็นรอง “Dolby Atmos for Headphones” อยู่ แต่ข้อดีของมันคือเป็นของฟรีที่แถมมากับ Windows ไม่ต้องจ่ายเพิ่มเหมือน “Dolby Atmos for Headphones” ก็ลองฟังเทียบกันดูเป็นประสบการณ์ได้ครับ

อนึ่งแม้ว่า “Dolby Atmos for Headphones” จะรองรับทั้ง DAC ในตัวคอมพิวเตอร์และ External DAC (USB DAC) รองรับหูฟังทั้งแบบเสียบสายและหูฟังบลูทูธไร้สาย แต่ผมว่าหูฟังแต่ละตัวนั้นให้ผลลัพธ์ของเสียงที่ได้จาก “Dolby Atmos for Headphones” แตกต่างกัน หูแบบ in-ears ได้ยินมิติโอบล้อมไม่ชัดเท่าหูแบบครอบศีรษะ ใครมีหูฟังหลาย ๆ ตัวลองฟังเทียบกันดูนะครับ ว่าได้ยินเหมือนกันหรือเปล่า

ทดลองชมไฟล์สาธิตที่มาใน Dolby Access

ถามว่า “Dolby Atmos for Headphones” ให้อะไรเพิ่มขึ้นมา ที่ได้ยินก็คือมันให้มิติเสียงโดยรวมที่ฉีกถ่างออกไปจากศีรษะของเรามากขึ้น บรรยากาศเสียงที่ได้ยินจากหูฟังมีความสมจริงมากขึ้น ซาวด์เอฟเฟ็คต์ต่าง ๆ มีความสมจริงมากขึ้น

แต่ไม่ได้ถึงขนาดที่ฟังจากลำโพงแยกชิ้นเป็นตัว ๆ ในระบบเสียงโฮมเธียเตอร์นะครับ แต่รับรองว่าฟังแล้วได้ไอเดียรวมถึงประสบการณ์ดี ๆ จากระบบเสียง Dolby Atmos แน่นอนครับ และถ้าหากว่าลองฟังแล้วชอบใจจะซื้อซอฟต์แวร์ตัวนี้แบบซื้อขาดเลยผมว่ามันก็คุ้มเงิน 519 บาทอยู่นะครับ

ลองฟัง “Dolby Atmos for Headphones” กับ Netflix
นอกจากไฟล์สาธิตใน Dolby Access แล้ว เนื่องจากผมเองไม่ใช่คนเล่นเกมจริงจัง ผมจึงเลือกทดลองฟัง “Dolby Atmos for Headphones” ด้วยการชมภาพยนตร์ใน Netflix หนึ่งในผู้ให้บริการคอนเทนต์ภาพยนตร์ออนไลน์ที่รองรับระบบเสียง Dolby Atmos ด้วย (Premium Package)

การตั้งค่าใน Netflix เพื่อฟังระบบเสียง Dolby Atmos 

ก่อนอื่นให้เข้าไปตั้งค่าใน Netflix ก่อนครับ โดยเข้าไปที่ MY PROFILE > Playback Settings แล้วเลือกที่ Auto หรือ High แล้วกด Save จากนั้นกลับไปที่หน้าเมนูปกติของ Netflix

วิธีการค้นหาว่าภาพยนตร์เรื่องไหนบ้างใน Netflix ที่เป็นระบบเสียง Dolby Atmos ก็ไม่ยากครับ ในช่องค้นหาเราก็พิมพ์เข้าไปเลย “Dolby Atmos” เรื่องที่เป็นระบบเสียง Dolby Atmos ก็จะปรากฏมาให้เลือกชม ซีรีส์ใหม่ที่ทาง Netflix กำลังโปรโมทอยู่อย่างเรื่อง “Lost in Space” ก็ใช่ครับ สังเกตจากโลโก้ Dolby Atmos ได้เลย *

*ข้อสังเกต ผมไม่เห็นโลโก้ Dolby Atmos เวลาชม Netflix ผ่านบราวเซอร์ Chrome แต่เห็นโลโก้เวลาชมผ่านแอปฯ Netflix ที่ดาวน์โหลดมาจาก Windows Store เลยแนะนำให้รับชมจากแอปฯ ครับ

เท่าที่ผมได้ลองชมแล้วอย่างเรื่อง Okja นี่ก็น่าสนใจครับ ฉากต้นเรื่องที่อยู่ในป่าก็โชว์ประสิทธิภาพของ “Dolby Atmos for Headphones” ได้ชัดเจนเลยทีเดียว

หรืออย่างฉากเปิดต้นเรื่องในซีรีส์ชื่อ “Godless” season 1 ep.1 ก็โชว์ประสิทธิภาพของ “Dolby Atmos for Headphones” ออกมาได้ชัดเจนมาก เสียงลมพัด เสียงเอฟเฟ็คต์ต่าง ๆ ฟังคนละเรื่องกับตอนปิดโหมด “Dolby Atmos for Headphones” เลย

หนังใน Netflix ที่เป็นระบบเสียง Dolby Atmos

ผมว่าสุดท้ายแล้วผมคงยอมจ่ายเงิน 519 บาท เพื่อให้ได้ใช้งาน “Dolby Atmos for Headphones” อย่างถาวรล่ะครับ ในมุมมองของผม ผมว่ามันคุ้ม แม้ว่าตอนนี้คอนเทนต์ใน Netflix ที่เป็น Dolby Atmos จะยังไม่ได้มีมากมาย เกมผมก็ไม่ได้เล่นจริงจัง แต่ลึก ๆ แล้วผมเชื่อว่าอนาคตของฟอร์แมตนี้จะเป็นที่นิยมแพร่หลาย ถึงเมื่อนั้นปริมาณของคอนเทนต์ที่เป็น Dolby Atmos ก็จะเพิ่มขึ้นมาเองตามธรรมชาติครับ

ส่วนคนที่เล่นเกมโดยเฉพาะเกมที่เป็นระบบเสียง Dolby Atmos ทั้งใน PC และ XBOX ผมว่ามันยิ่งคุ้มมาก เผลอ ๆ ด้วยความชัดของทิศทางเสียง มันอาจจะทำให้คุณได้เปรียบคู่ต่อสู้ในสนามแข่งที่คุณกำลังโรมรันอยู่ก็เป็นได้

มนตรี คงมหาพฤกษ์

ผู้ก่อตั้งสื่อออนไลน์ AV Tech Guide อดีตบรรณาธิการบริหารนิตยสารและออนไลน์ GM2000 Magazine จบการศึกษาจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สนใจเครื่องเสียงทั้งระบบอะนาล็อกและดิจิทัล ใช้งานสมาร์ทโฟนทั้ง iOS และ Android ใช้คอมพิวเตอร์ทั้ง macOS และ Windows หลงใหลเทคโนโลยีเป็นชีวิตจิตใจ ตอนนี้กำลังเห่อระบบบันทึกเสียงและไมโครโฟนแบบมืออาชีพ