fbpx
NEWS

เริ่มมีการใช้ใบอนุญาตและการรับรองโลโก้กับ HDR10+ แล้ว

ตั้งแต่ประกาศเปิดตัวรูปแบบเมทาดาต้าของ HDR10+ ซึ่งเป็นแบบไดนามิคในช่วงซัมเมอร์ที่ผ่านนั้น ก็กลายมาเป็นคู่แข่งโดยตรงกับ Dolby Vision

ตั้งแต่นั้นมาบริษัทผู้ก่อตั้งทั้ง 3 ราย (ซัมซุง, พานาโซนิค และ 20th Century Fox) เริ่มได้รับการสนับสนุนจาก Warner Bros Home Entertainment และรูปแบบดังกล่าวได้ถูกนำไปใช้ใน Amazon Prime Video อีกทั้งกำลังจะเข้าไปปรากฏใน Ultra HD Blu-ray ในอีกไม่นาน โดยในขณะนี้ เทคโนโลยี HDR10+ ได้รับใบอนุญาตและการรับรองโลโก้ยืนยันตัวเทคโนโลยีและการใช้งานแล้ว

ใบอนุญาตและโลโก้ HDR10+ ซึ่งจะถูกนำมาใช้กับสินค้า AV (อาทิ เครื่องรับโทรทัศน์, เครื่องเล่นบลูเรย์ Ultra HD, กล่องรับสัญญาณดิจิทัล และ เครื่องเล่นบลูเรย์ 4K) นั้น จะต้องตรงตามข้อกำหนดทางด้านเทคนิคและการทดสอบของ HDR10+ ซะก่อน ฉะนั้นตอนนี้ยังคงต้องรอกันอีกนิดถึงจะได้เห็นโลโก้ HDR10+ บนกล่องบรรจุภัณฑ์ของสินค้า

คาดการณ์กันว่าจะมีกว่า 40 บริษัทที่จะผลิตและจัดจำหน่ายสินค้าที่รองรับ HDR10+ ให้แก่ผู้บริโภค และในขณะที่ยังไม่มีการเปิดเผยแบรนด์สินค้าที่จะสนับสนุนติดโลโก้ดังกล่าวอย่างเป็นทางการ ก็จะมีทีวีและเครื่องเล่นบลูเรย์ ของ ซัมซุง และ พานาโซนิค มีกำหนดการณ์เปิดตัวในลำดับแรก ส่วนทีวี HDR จากทางฟิลิปส์ จะตามมาในอีกไม่นาน

สำหรับ LG และ Sony ที่ได้สนับสนุน Dolby Vision ไปก่อนหน้านี้จะหันมาสนับสนุน HDR10+ ด้วยหรือไม่นั้น? ดูเหมือนจะเป็นไปได้ยาก

ในขณะที่ใบอนุญาต HDR10+ เปิดให้ใช้ได้ฟรี ต่างจาก Dolby Vision ที่เจ้าของผลิตภัณฑ์จะต้องจ่ายค่าขอใช้ใบอนุญาตจาก Dolby เป็นรายปี ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 2,500 – 10,000 เหรียญ ขึ้นอยู่กับผลิตภัณฑ์ ส่วนบริษัทผู้ผลิตสื่ออย่าง Amazon ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมดังกล่าว

Bill Mandel รองประธานฝ่ายความสัมพันธ์ทางอุตสาหกรรมของ Samsung Research America กล่าวว่า “โครงการนี้ได้รับการออกแบบมาเพื่อความพึงพอใจของผู้บริโภค เน้นความมุ่งมั่นของเราในการปรับปรุงประสบการณ์ในแบบ HDR และในขณะเดียวกันก็เพื่อขยายขอบเขตประสบการณ์ในแบบ HDR10+ เข้าสู่ทุกภาคส่วนทั่วโลก”

คำถามคือ มีแบรนด์ AV กี่เจ้าที่จะเข้าร่วมกับผู้ก่อตั้งอย่าง Samsung และ Panasonic ในการสนับสนุนรูปแบบ HDR10+?

ธวัชชัย อุไรรัตน์

ชื่นชอบดนตรีและเครื่องเสียงตั้งแต่ ปวช. ประกอบเครื่องเสียงใช้เองตั้งแต่เริ่มแรก ผ่านประสบการณ์ทางด้านเสียง/โฮมเธียเตอร์มาแล้วหลายรูปแบบ ทั้งนักวิจารณ์เครื่องเสียง/โฮมเธียเตอร์ เป็นทีมงานเครื่องเสียงให้เช่า (ติดตั้งโครงสร้าง วางลำโพง เซ็ตระบบเสียงทั้ง PA และ Monitor มิกซ์เสียง) ผ่านงานติดตั้งระบบมินิเธียเตอร์ ทั้งระบบภาพ 3D แบบ Passive (2 Projector Stack) และระบบเสียง 7.1 แชนเนล ผ่านการอบรม The Sound Master มีผลงานเขียนตีพิมพ์อย่างต่อเนื่อง ติดตามเทคโนโลยีอยู่เสมอ