Site icon AV Tech Guide สื่อ Online รีวิว ข่าว ความรู้ ด้านเครื่องเสียง ไฮไฟ โฮมเธียเตอร์ ทีวี สมาร์ทโฟน ไอที มัลติมีเดียและสินค้านวัตกรรม

Gartner คาดการณ์การทำงานแบบ Remote Work จะดันยอดจัดส่งพีซีและแท็บเล็ตในปีนี้ทะลุ 500 ล้านเครื่อง พุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์

Gartner 2021 remote worker forecast

ประเทศไทย 13 กรกฎาคม 2564 – การ์ทเนอร์ อิงค์ คาดการณ์ว่าภายในสิ้นปี 2564 จำนวน 51% ของการทำงานของพนักงานที่เน้นทักษะทั่วโลกจะเป็นแบบการทำงานระยะไกลโดยเพิ่มขึ้นจาก 27% ในปี 2563

การ์ทเนอร์ประเมินว่าภายในสิ้นปี 2564 พนักงานที่ทำงานระยะไกล (Remote Workers) จะมีสัดส่วนเป็น 32% ของพนักงานทั้งหมดทั่วโลก เพิ่มขึ้นจาก 17% ในปี 2562 โดยการ์ทเนอร์ได้ให้คำจำกัดความของพนักงานใช้ทักษะความรู้ หรือ Knowledge Workers ว่าเป็นผู้ที่ต้องใช้ความรู้หรือทักษะด้านวิชาชีพเป็นหลัก

อาทิ นักเขียน นักบัญชี หรือ วิศวกร เป็นต้น และยังให้ความหมายของพนักงานที่ไม่ได้ทำงานในสำนักงานไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐหรือเอกชนหรือที่หน้างานอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 วัน ว่าเป็นพนักงานกลุ่มไฮบริด (Hybrid Workers) กับพนักงานที่ต้องทำงานระยะไกลเต็มตัว (Fully Remote Workers)

มร. แรนจิท แอทวัล ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิจัยการ์ทเนอร์ กล่าวว่า “แรงงานกลุ่มไฮบริดคืออนาคตของโลกการทำงานทั้งการทำงานระยะไกล (Remote) และการทำงานในสถานที่ต่าง ๆ (On-site) ล้วนเป็นแนวทางเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและตอบโจทย์ความจำเป็นด้านแรงงานของนายจ้าง”

รูปแบบการทำงานระยะไกลขององค์กรต่าง ๆ ทั่วโลกมีความแตกต่างกันขึ้นอยู่กับการนำเทคโนโลยีมาใช้ วัฒนธรรมและการผสมผสานของอุตสาหกรรม คาดว่าในปี 2565 31% ของการทำงานของพนักงานทั่วโลกจะเป็นการทำงานระยะไกล (ที่ผสมผสานกันระหว่างแบบไฮบริดและแบบเต็มเวลา)

โดยในปี 2565 สหรัฐอเมริกาจะเป็นผู้นำกลุ่มพนักงานระยะไกลที่มีสัดส่วนสูงถึง 53% ของแรงงานในอเมริกาทั้งหมด ส่วนประเทศต่าง ๆ ในทวีปยุโรป คาดว่าสหราชอาณาจักรจะมีสัดส่วนของพนักงานระยะไกลที่ 52% ขณะที่เยอรมนีและฝรั่งเศสมีสัดส่วนที่ 37% และ 33% ตามลำดับ

อินเดียและจีนเป็นสองประเทศที่จะผลิตพนักงานระยะไกลเพิ่มจำนวนมากที่สุด แต่อัตราการเติบโตโดยรวมยังค่อนข้างต่ำ โดยอินเดียอยู่ที่ 30% จีนอยู่ที่ 28%

ผลกระทบการจัดหาและนำเทคโนโลยีไปใช้งานจนถึงปี 2567
ผลกระทบจากการทำงานระยะไกลกำลังส่งผลให้มีการประเมินโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีจากความต้องการที่เปลี่ยนไปของผู้ซื้อที่ต้องการทำงานได้จากทุกที่ มร. แอทวัล กล่าวว่า “ตลอดปี 2567 องค์กรต่าง ๆ จะถูกบังคับให้ต้องเตรียมแผนรับมือการเปลี่ยนแปลงธุรกิจไปสู่ดิจิทัลภายในห้าปีเป็นอย่างน้อย

โดยแผนจะต้องปรับให้เข้ากับโลกยุคหลังโควิด-19 ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานระยะไกลและเชื่อมต่อกับเทคโนโลยีดิจิทัลรอบด้าน” โดยผลิตภัณฑ์และบริการดิจิทัลจะมีบทบาทสำคัญกับการเปลี่ยนผ่านขององค์กร

ในแผนระยะยาวจำเป็นต้องมีการลงทุนต่อเนื่องเพื่อดำเนินการจัดเตรียมเทคโนโลยีสำหรับใช้ทำงานระยะไกลเป็นอันดับแรก รวมถึงเทคโนโลยีใหม่ ๆ อาทิ ไฮเปอร์ออโตเมชั่น, AI และเทคโนโลยีการทำงานร่วมกัน เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นในด้านสถานที่และบทบาทการทำงาน

การทำงานแบบไฮบริดจะเพิ่มความต้องการพีซีและแท็บเล็ตอย่างต่อเนื่อง คาดว่าในปี 2564 จะมีการจัดส่งพีซีและแท็บเล็ตสูงสุดเป็นประวัติการณ์มากกว่า 500 ล้านเครื่อง ซึ่งตอกย้ำถึงความต้องการของทั้งตลาดในกลุ่มองค์กรธุรกิจและกลุ่มผู้บริโภค

องค์กรต่าง ๆ ยังได้นำระบบคลาวด์มาปรับใช้เพื่อเร่งการเปิดใช้รูปแบบการทำงานระยะไกลให้มีความรวดเร็วมากขึ้น การ์ทเนอร์คาดการณ์ว่าในปี 2564 มูลค่าการใช้จ่ายของผู้ใช้บริการคลาวด์สาธารณะทั่วโลกจะเพิ่มขึ้น 23.1% เนื่องจากซีไอโอและผู้บริหารด้านไอทีให้ความสำคัญกับแอปพลิเคชันบนคลาวด์ เช่น การให้บริการด้านซอฟต์แวร์ (SaaS) แอปพลิเคชันแบบ SaaS ที่ได้รับการออกแบบมาเพื่อการทำงานระยะไกลและพนักงานสามารถเข้าถึงได้จากทุกสถานที่

การติดต่อสื่อสารทางสังคมและเครื่องมือการทำงานร่วมกันยังเป็นสิ่งที่ “ขาดไม่ได้” ซึ่งทำให้ตลาดซอฟต์แวร์เพื่อการสื่อสารทางสังคมและเพื่อการทำงานร่วมกันทั่วโลกมีรายได้เพิ่มขึ้น 17.1% ในปี 2564

หลายองค์กรต้องเปลี่ยนและปรับใช้เทคโนโลยีการเชื่อมต่อหลายอย่างเพื่อให้มั่นใจว่าธุรกิจจะดำเนินต่อไปได้แม้พนักงานต้องทำงานระยะไกล และภายในปี 2567 การเข้าใช้งานเทคโนโลยีการทำงานระยะไกลทั้งหมดอย่างน้อย 40% จะผ่านระบบเครือข่ายแบบ Zero Trust Network Access (ZTNA) โดยเพิ่มขึ้นจากเดิมที่ต่ำกว่า 5% ณ สิ้นปี 2563 ขณะที่องค์กรส่วนใหญ่จะยังให้บริการลูกค้าผ่านระบบเครือข่าย VPN โดย ZTNA จะกลายเป็นเทคโนโลยีที่เข้ามาทดแทนหลัก

Exit mobile version