[แค่ส่งก็ไม่ได้ !] FedEx ปฎิเสธการส่งพัสดุสินค้า Huawei เข้าประเทศสหรัฐฯ
สถานการณ์การกีดกันทางการค้าระหว่างรัฐบาลสหรัฐฯ และรัฐบาลจีน โดยมีแบรนด์ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นเสมือนตัวแทนของรัฐบาลจีนอย่าง Huawei เป็นตัวประกัน ดูเหมือนกำลังคลี่คลายไปในทางที่ดี แต่เวลานี้กลับทำท่าจะไม่ราบรื่นเสียแล้ว !
เมื่อมีข่าวว่าการกีดกันทางการค้าในครั้งนี้ ไม่ได้มีแค่เรื่องค้า ๆ ขาย ๆ แต่แค่การส่งของส่งพัสดุเข้าประเทศสหรัฐฯ ก็ยังไม่สามารถทำได้ !
ต้นตอของข่าวที่แพร่หลายไปในสื่อออนไลน์ทั่วไปครั้งนี้เกิดขึ้นเมื่อนักเขียนของสื่อออนไลน์อย่าง PC Mag มีความต้องการส่งตัวเครื่อง Huawei P30 Pro จากประเทศอังกฤษ ไปให้นักเขียนอีกคนที่อยู่ในสหรัฐฯ ทำการรีวิวเครื่อง แต่พัสดุกลับถูกตีคืนด้วยสาเหตุจากความขัดแย้งดังกล่าว
การส่งสมาร์ทโฟนของหัวเว่ยจากอังกฤษไปสหรัฐฯ ในครั้งนี้เป็นการส่งผ่านตัวแทนชื่อ Parcelforce ซึ่งรับหน้าที่ส่งผ่านไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา ก่อนที่ทางบริษัทท้องถิ่นอย่าง FedEx จะเข้ามารับหน้าที่ดูแลการส่งพัสดุต่อ ซึ่งการส่งพัสดุจำเป็นต้องมีการระบุรายละเอียดของสินค้าที่ส่งไม่ว่าจะเป็นยี่ห้อ, รุ่น หรือเลขอีมี่ของตัวสมาร์ทโฟนด้วย
หลังจากที่พัสดุเดินทางไปถึงเมืองอินเดียนาโปลิส แทนที่ตัวพัสดุจะถูกส่งต่อไปยังผู้รับในนิวยอร์ก ก็กลับถูกตีกลับไปยังประเทศอังกฤษ โดยที่ FedEx ได้ให้เหตุผลในการปฏิเสธการส่งและตีคืนพัสดุในครั้งนี้ว่า “เป็นกรณีปัญหาระหว่างรัฐบาลสหรัฐฯ ที่มีต่อรัฐบาลจีนและหัวเว่ย”
This is totally ridiculous. Our UK writer tried to send us his @HuaweiMobile P30 unit so I could check something – not a new phone, our existing phone, already held by our company, just being sent between offices – and THIS happened @FedEx pic.twitter.com/sOaebiqfN6
— Sascha Segan (@saschasegan) June 21, 2019
ผู้สันทัดกรณีให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่าทาง FedEx เทคแอคชันเกินกว่าขอบเขตของการคว่ำบาตรหัวเว่ย เพราะสิ่งที่ทางรัฐบาลสหรัฐฯ ได้ตีกรอบเอาไว้เป็นเรื่องเกี่ยวกับข้อห้ามในการใช้เทคโนโลยีของสหรัฐอเมริกา ไม่ใช่เรื่องของการใช้งาน การซื้อขายหรือการจัดส่งพัสดุภายในประเทศสหรัฐอเมริกา
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ FedEx แสดงออกกับสินค้าของหัวเว่ย ก่อนหน้านี้ไม่นานทางรอยเตอร์ก็มีรายงานออกมาว่าทาง FedEx ได้ตีคืนพัสดุอย่างน้อย 2 ชิ้นที่มาจากบริษัทหัวเว่ยทั้งที่ตัวพัสดุมีเพียงแค่เอกสารต่าง ๆ เท่านั้น
ขณะที่ทาง FedEx, Parcelforce และ Huawei ยังไม่ได้ออกมาแสดงความเห็นเกี่ยวกับกรณีล่าสุดนี้