กูรูทดสอบความปลอดภัยจากยุโรปเผยผู้ผลิตรถยนต์ควรเอาปุ่มควบคุมแบบเดิมกลับมา
ความก้าวหน้าบางอย่างในอุตสาหกรรมยานยนต์ถือว่าเป็นเรื่องที่น่ายกย่อง เรามีรถยนต์ที่ปลอดภัยมากขึ้นและมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ดีก็ยังมีความเปลี่ยนแปลงบางอย่างที่เราควรเก็บมันเข้ากรุ
ตัวอย่างเช่น การตกแต่งภายในด้วยวัสดุสีดำมันวาวแบบ “เปียโนแบล็ก” ซึ่งมีใช้กันมากเกินไปในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา นอกจากนั้นการที่อุตสาหกรรมรถยนต์ได้หันไปพึ่งพาการควบคุมสั่งงานด้วยหน้าจอสัมผัสมากเกินไปโดยเฉพาะกับฟังก์ชันต่าง ๆ ที่เคยเป็นการควบคุมแบบแยกส่วนมาก่อน
องค์กรด้านความปลอดภัยยานยนต์แห่งยุโรป European New Car Assessment Program (Euro NCAP) มีความเห็นด้วยกับกรณีหลังสุด และมีความเห็นว่าส่วนของการควบคุมสั่งงานควรมีการเปลี่ยนแปลงในปี 2026
“การใช้หน้าจอสัมผัสมากเกินไปเป็นปัญหาทั่วทั้งอุตสาหกรรม ผู้ผลิตรถยนต์เกือบทุกรายย้ายปุ่มควบคุมไปยังหน้าจอสัมผัสส่วนกลาง ทำให้ผู้ขับขี่ต้องละสายตาจากถนน และเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดการรบกวนสมาธิในระหว่างการขับรถ” Matthew Avery ผู้อำนวยการด้านการพัฒนาเชิงกลยุทธ์ของ Euro NCAP กล่าว
“ข้อกำหนดการทดสอบ Euro NCAP แบบใหม่ในปี 2026 จะสนับสนุนให้ผู้ผลิตรถยนต์เลือกใช้การควบคุมด้วยปุ่มกดหรือปุ่มควบคุมทางกายภาพแยกต่างหากสำหรับฟังก์ชันพื้นฐาน และออกแบบมาในลักษณะที่ใช้งานง่ายไม่ต้องละสายตาจากถนน เพื่อช่วยให้การขับขี่บนถนนมีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น” Matthew Avery กล่าวเสริม
ในเวลานี้ Euro NCAP ไม่ได้ยืนกรานว่าทุกฟังก์ชันจะต้องออกแบบปุ่มหรือสวิตช์แยกอิสระเป็นของตัวเอง ทว่าทางองค์กรต้องการเห็นการควบคุมทางกายภาพสำหรับฟังก์ชันพื้นฐานอย่างเช่น สัญญาณไฟเลี้ยว ไฟฉุกเฉิน ที่ปัดน้ำฝน แตร และคุณสมบัติด้านความฉุกเฉิน (SOS) ใด ๆ เช่น คุณสมบัติ eCall ของสหภาพยุโรป
ในกรณีนี้ Tesla น่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุด เนื่องพวกเขาเพิ่งทำการย้ายก้านสัญญาณไฟเลี้ยวซึ่งเป็นฟังก์ชันพื้นฐานไปออกแบบเป็นปุ่มสัมผัสบนพวงมาลัยแทน (Ferrari เอาปุ่มไฟเลี้ยวไปไว้บนพวงมาลัยเช่นกัน แต่ Ferrari ไม่ปรากฏในฐานข้อมูลของ Euro NCAP ดังนั้นทางแบรนด์จึงอาจจะไม่สนใจ)
Euro NCAP ไม่ใช่หน่วยงานกำกับดูแลของรัฐบาล ดังนั้นจึงไม่มีอำนาจในการกำหนดให้ผู้ผลิตรถยนต์ใช้การควบคุมทางกายภาพสำหรับฟังก์ชันพื้นฐานเหล่านั้น อย่างไรก็ดีคะแนนความปลอดภัยระดับ 5 ดาวจาก Euro NCAP ก็ยังถือว่าเป็นจุดขายที่โดดเด่นทำนองเดียวกันกับโปรแกรม Top Safety Pick ของ Insurance Institute for Highway Safety ในสหรัฐอเมริกาที่บรรดาผู้ผลิตรถยนต์ต้องการได้
ที่มา: arstechnica