fbpx
NEWS

ARM ร่วมแบน HUAWEI กระทบอนาคตชิป Kirin ขณะที่โฆษก 2 บริษัทแย้ม ยังคุยกันได้

22 พฤษภาคม 2562 ตามเวลาท้องถิ่นประเทศสหรัฐอเมริกา สำนักข่าวออนไลน์ The Verge รายงานอ้างอิงจากข้อมูลของ BBC ระบุว่าบริษัท ARM Holdings เจ้าของสิทธิบัตรสถาปัตยกรรม ARM (Acorn RISC Machine) ที่มีใช้งานอยู่ในชิปเซ็ตของสมาร์ทโฟนเกือบทั้งหมดในปัจจุบัน ได้แสดงออกถึงการระงับความสัมพันธ์กับ Huawei ตามมาตรการคว่ำบาตรทางการค้าของรัฐบาลสหรัฐฯ

โดยมาตรการนี้จะมีผลตั้งแต่เรื่องของการระงับสัญญาต่าง ๆ ที่มีอยู่, สิทธิในการได้รับการสนับสนุน และการทำธุรกรรมใด ๆ ที่ยังคงค้างอยู่ ส่งผลให้การพัฒนาชิปเซ็ตตระกูล Kirin ซึ่งเป็นสมองกลหลักในสมาร์ทโฟนของหัวเว่ยซึ่งได้ซื้อสิทธิในการนำสถาปัตยกรรม ARM มาใช้ออกแบบตัวชิปเซ็ตด้วยเช่นกัน ถูกตั้งคำถามว่า…จากนี้ไปจะมีอนาคตเป็นเช่นไร ?

ARM Holdings ซึ่งเป็นบริษัทสัญชาติอังกฤษ และปัจจุบันเป็นบริษัทในเครือของ SoftBank Group ประเทศญี่ปุ่น ได้ออกมาให้ความเห็นถึงเหตุที่ต้องดำเนินการตามมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ ว่า เป็นเพราะการออกแบบชิป ARM นั้น มีบางส่วนที่เป็น “เทคโนโลยีดั้งเดิมของทางสหรัฐอเมริกา” รวมอยู่ด้วย

หลังจากที่ข่าวถูกนำเสนอออกไปโฆษกของ ARM ได้ออกมายืนยันข่าวดังกล่าวกับ The Verge โดยให้ความเห็นว่า

“ARM กำลังปฏิบัติตามข้อจำกัดล่าสุดที่กำหนดโดยรัฐบาลสหรัฐอเมริกา และกำลังดำเนินการเจรจาอย่างต่อเนื่องกับหน่วยงานภาครัฐของสหรัฐอเมริกาเพื่อยืนยันว่าเราได้ปฏิบัติตามแล้ว”

“ARM ให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์กับ HiSilicon (บริษัทออกแบบชิปของหัวเว่ย) ซึ่งเป็นหุ้นส่วนที่ยาวนานของเรา และเราหวังว่าเรื่องนี้จะได้รับการแก้ไขหาทางออกร่วมกันได้ในเร็ววัน”

ขณะที่โฆษกของ Huawei ได้แสดงความเห็นผ่านแถลงการณ์ที่ส่งให้ทาง The Verge ว่า

“เราให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับคู่ค้าของเรา แต่ตระหนักถึงแรงกดดันบางอย่างที่อยู่ภายใต้การตัดสินใจทางการเมือง”

“เรามั่นใจว่าสถานการณ์ที่น่าเศร้านี้สามารถแก้ไขได้ และลำดับความสำคัญของเรายังคงดำเนินต่อไปเพื่อส่งมอบเทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์ระดับโลกแก่ลูกค้าของเราทั่วโลก”

ขณะเดียวกันสื่ออเมริกันอย่าง The Verge ได้แสดงทัศนะเพิ่มเติมถึงความไม่ชัดเจนว่า มาตรการนี้ทาง ARM ได้ตอบสนองอย่างระมัดระวังต่อคำสั่งของกระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐอเมริกาหรือไม่ หรือได้รับการชี้นำให้หยุดทำธุรกิจกับหัวเว่ยโดยตรง

ถ้าหากเป็นกรณีหลังแล้วการตัดสินใจของ ARM อาจทำให้ซัพพลายเออร์ชิปเซมิคอนดักเตอร์รายอื่น ๆ ของหัวเว่ยอาจพิจารณาดำเนินรอยตามได้

นอกจากเรื่องของการพัฒนาชิปเซ็ตแล้ว ปัจจุบันธุรกิจสมาร์ทโฟนของหัวเว่ยยังอาศัยชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์จากผู้ผลิตในสหรัฐอเมริกาหลายราย เช่น Micron, Skyworks และ Qorvo ซึ่งผลิตชิ้นส่วนหน่วยความจำข้อมูลและอุปกรณ์ระบบเน็ทเวิร์ค

ชิปเซ็ต 5G base station ของหัวเว่ยก็ใช้สถาปัตยกรรม ARM เช่นกัน

ก่อนหน้านี้มีข้อมูลออกมาว่าทางหัวเว่ยได้สำรองชิ้นส่วนอะไหล่ของซัพพลายเออร์ในสหรัฐฯ เอาไว้เพียงที่จะใช้งานได้ต่อไปเป็นเวลา 3 เดือน ถึง 1 ปี และรัฐบาลสหรัฐฯ เองก็ได้ออกมาผ่อนผันการคว่ำบาตรออกไปอีก 3 เดือน ธุรกิจของหัวเว่ยจึงอาจจะยังไม่ได้รับผลกระทบมากนักในช่วงเวลาดังกล่าว

ทว่าต่อจากนั้นก็ยังขึ้นอยู่กับการใช้เวลาที่เหลืออยู่ ในการแก้ไขความขัดแย้ง และการเจรจาเพื่อหาข้อยุติความขัดแย้งที่เกิดขึ้น

UPDATE: 24 พฤษภาคม 2562
เหริน เจิ้งเฟย ผู้ก่อตั้งและประธานบริหารของหัวเว่ยได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อจีน Caixin.com ถึงประเด็นความสัมพันธ์กับบริษัท ARM Holdings ว่าไม่กระทบต่อการดำเนินธุรกิจของหัวเว่ย เพราะว่าหัวเว่ยได้ถือใบอนุญาตถาวรเกี่ยวกับสถาปัตยกรรม ARM เอาไว้แล้ว


Did you know?

ทราบหรือไม่ว่า ชิป ARM ซึ่งเป็นที่นิยมใช้งานแพร่หลายในอุปกรณ์ IT/Mobile Gadget ที่ต้องการหน่วยประมวลผลขนาดเล็กและประหยัดพลังงาน ถูกพัฒนาขึ้นเป็นครั้งแรกตั้งแต่เมื่อปีค.ศ.1985 โดยบริษัทผู้ผลิตคอมพิวเตอร์จากประเทศอังกฤษชื่อ Acorn Computers

ARM ย่อมาจากคำว่า “Acorn RISC Machine” ซึ่งเป็นชื่อของโครงสร้างสถาปัตยกรรมภายในตัวชิป ชิป ARM ตัวแรกทำงานที่ 8 บิต ถูกใช้งานในคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลชื่อ BBC Micro ออกวางจำหน่ายครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม ปีค.ศ.1985

BBC Micro – 1985

ปัจจุบันบริษัท ARM Holdings เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์โครงสร้างสถาปัตยกรรม ARM แต่ยกหน้าที่ผู้ผลิตให้กับบริษัทชั้นนำอาทิ Apple, AppliedMicro, Atmel, Broadcom, Cypress Semiconductor, Freescale Semiconductor, Nvidia, NXP, Qualcomm, Samsung Electronics, ST Microelectronics, Texas Instruments, Analog Devices ฯลฯ

รายงานจาก ARM Holdings ระบุว่าเฉพาะในปีค.ศ. 2010 มีสินค้าที่ใช้ชิปตระกูล ARM มากถึง 6,100 ล้านตัวทั่วโลก ใช้งานมากที่สุดในสมาร์ทโฟน, ทีวีดิจิทัลและคอมพิวเตอร์พกพา ตามลำดับ

กองบรรณาธิการ AV Tech Guide

สื่อออนไลน์ที่มีเนื้อหาครอบคลุมเกี่ยวกับเทคโนโลยีนวัตกรรมในกลุ่มสินค้าเครื่องเสียงไฮไฟ โฮมเธียเตอร์ ไอทีมัลติมีเดีย ตลอดจนสินค้านวัตกรรมอื่น ๆ ที่มีอิทธิพลต่อไลฟ์สไตล์ของผู้คนทั้งในอดีต ปัจจุบันและอนาคต ดำเนินงานโดยทีมงานมืออาชีพ