ไอโฟนรุ่นใหม่อาจไม่ใช้พอร์ต Lightning รวมทั้ง USB Type-C เพราะมีเทคโนโลยีใหม่ที่น่าสนใจกว่า
Apple บริษัทผู้ผลิตสินค้าไอทีที่ได้ชื่อว่าเป็นอีกหนึ่งผู้นำในด้านของนวัตตกรรมอยู่เสมอ ได้มองหาวิธีการรับ-ส่งข้อมูลที่มีประสิทธิภาพเหนือว่าการเชื่อมต่อด้วยสายเคเบิลหรือแบบไร้สายที่มีอยู่ในปัจจุบัน ผลลัพธ์ก็คือเทคโนโลยีการส่งข้อมูลแบบใหม่ที่ส่งข้อมูลได้เร็วกว่าการเชื่อมต่อด้วยสาย แถมยังไม่ต้องการมีการใช้ขั้วต่อใด ๆ เหมือนอย่างในปัจจุบัน
วันนี้ Apple ได้จดสิทธิบัตรเทคโนโลยีดังกล่าวเอาไว้แล้วในชื่อ Conductive Cladding for Waveguides (20190195654) รวมทั้งยังมีเอกสารบางอย่างที่เผยว่าทางบริษัทมีความคิดที่จะใช้มันแทนสายเชื่อมต่อข้อมูล
ในเอกสารดังกล่าวชี้ให้เห็นว่าการส่งผ่านข้อมูลด้วยสายเคเบิลนั้นถูกจำกัดโดยค่าความต้านทานของวัสดุที่ใช้เป็นตัวนำไฟฟ้าในสายเคเบิล การใช้สายเชื่อมต่อเพิ่มหลาย ๆ ชุด ก็นำไปสู่อีกหนึ่งปัญหานั่นคือ การเพิ่มขึ้นของค่าคาพาซิแตนซ์ส่งผลให้สัญญาณรบกวนสามารถแพร่เข้ามาในสายเคเบิลได้ง่ายขึ้น
นอกจากนั้นในเอกสารของ Apple ยังอธิบายเพิ่มว่า การใช้ขั้วต่ออย่างพอร์ต Lightning ซึ่งต้องมีขั้วต่อที่ตัวสายนำข้อมูล และมีขั้วต่ออีกจุดหนึ่งที่ตัวรับสัญญาณ สองส่วนนี้้ไม่ได้เชื่อมต่อกันไว้ตลอดเวลา หลายครั้งมันอาจเป็นต้นตอของปัญหาความชื้นและฝุ่นผงที่จะเข้าไปรบกวนการทำงานของเครื่องได้
เทคโนโลยีใหม่ของ Apple ที่ได้จดสิทธิบัตรเอาไว้แล้วนี้คือการเลือกใช้ ตัวนำสัญญาณที่เรียกว่าเวฟไกด์หรือท่อนำคลื่น และใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเป็นพาหะนำสัญญาณ
ในเอกสารสิทธิบัตรชี้ว่า “โครงสร้างของเวฟไกด์นั้นสามารถนำพาสัญญาณส่งผ่านไปได้โดยมีการสูญเสียพลังงานต่ำมาก”
“เวฟไกด์มีประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับการส่งคลื่นที่ปกติไม่สามารถส่งสัญญาณได้อย่างมีประสิทธิภาพในชั้นบรรยากาศของโลก” ตัวอย่างเช่น สัญญาณความถี่สูงมาก ๆ (ระดับความยาวคลื่นไม่กี่มิลลิเมตร, ความยาวคลื่น 1 มิลลิเมตร = 300GHz) จะถูกฟุ้งกระจายได้ง่ายมากเมื่อส่งผ่านชั้นบรรยากาศ จึงต้องนำพาคลื่นผ่านเวฟไกด์เพื่อป้องกันการฟุ้งกระจายของสัญญาณ
ที่พิเศษยิ่งกว่านั้นในสิทธิบัตรของ Apple ยังครอบคลุมไปถึงวิธีในการควบคุมการรับ-ส่งสัญญาณในระดับความยาวคลื่นเป็นหน่วยมิลลิเมตร มีความถูกต้องแม่นยำด้วย
หากถามว่ามันจะถูกนำมาใช้แทนพอร์ต Lightning แน่หรือ และเมื่อไร ? ขณะนี้คงไม่มีใครตอบคำถามนี้ได้ดีเท่าทีมวิศวกรของ Apple ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับโปรเจ็คต์นี้โดยตรง ทว่าการใช้เทคโนโลยีส่งข้อมูลที่มีความเร็วเหนือกว่าการส่งด้วยสายเคเบิลหรือสัญญาณ Wi-Fi ทั้งยังไม่ต้องการพอร์ตขั้วต่อใด ๆ นั้นเปิดโอกาสให้ Apple สามารถออกแบบ iPhone รุ่นใหม่ที่มีคุณสมบัติกันน้ำได้ดีกว่ารุ่นปัจจุบันอย่างแน่นอน
อย่างไรก็ดีการจดสิทธิบัตรเทคโนโลยี อาจไม่ได้มุ่งหวังจะนำเทคโนโลยีนั้นไปใช้งานในสินค้าที่จะวางจำหน่ายเสมอไป เทคโนโลยีเวฟไกด์นี้ก็เช่นกัน มันอาจจะไปอยู่ใน iPhone หรือสินค้ารุ่นใหม่ของ Apple หรือว่าไม่ถูกนำออกมาใช้งานเลยก็มีโอกาสเป็นไปได้ทั้งนั้น ถ้าเป็นกรณีแรกก็ถือว่านี่คือ อีกหนึ่งนวัตกรรมในรอบทศวรรษของวงการสมาร์ทโฟนบนโลกใบนี้เลยทีเดียว